ประชาคม (ประชาสังคม) ไม่ใช่องค์กร แต่เป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมของประชาชนที่มีจิตสำนึก เพื่อส่วนรวมในการแก้ปัญหาร่วมกัน อาจรวมตัวกันในเชิงพื้นที่ ตั้งแต่พื้นที่ขนาดเล็กๆ เช่น ประชาคมหมู่บ้าน ประชาคมตำบล ประชาคมอำเภอ ประชาคมจังหวัด ไปจนถึงประชาคมโลก หรืออาจรวมตัวกันในเชิงกิจกรรม เช่น จส.100 ร่วมด้วยช่วยกัน ประชาคมวิจัย ประชาคมสาธารณสุข เป็นต้น ดังนั้น ประชาคมที่สมบูรณ์ต้องประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนของสำนึกร่วมกันและส่วนที่มาคิดทำอะไรร่วมกัน โดยเริ่มจากการรวมตัวของผู้ที่มีคุณธรรมและพร้อมเสียสละประโยชน์ส่วนตนบางส่วนเพื่อส่วนรวม แล้วจึงลงมือร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสรุปบทเรียน และร่วมรับผลจากการกระทำ ถ้าประชาชนที่รวมตัวกันมีความหลากหลายในสาขาอาชีพและทำกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่องก็จะทำให้ประชาคมมีพลังมากขึ้น ในยุคโลกาภิวัฒน์ ปัญหาต่างๆ มีความสลับซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงรวดเร็วยิ่งขึ้น การแก้ปัญหาจำเป็นต้องมีความรอบคอบ โดยคำนึงผลกระทบอย่างรอบด้าน ต้องมีความรอบรู้ และต้องอาศัยความ ร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย ประชาคมจึงเป็นกลไกสำคัญต่อการพัฒนาในสภาวการณ์ดังกล่าว ซึ่งประโยชน์ของประชาคมสรุปได้ดังนี้ 1. “เสริมสร้างคุณธรรม” ประชาคมช่วยเพิ่มพื้นที่ทางสังคมให้แก่ผู้มี จิตสำนึกเพื่อส่วนรวมมาร่วมกันแก้ปัญหา ทำให้เกิดความสามัคคี เสริมสร้างพื้นฐานจิตใจให้มีคุณธรรม มีความเอื้ออาทร ลดกิเลสในตัวเอง ทำให้คนที่คิดถึงแต่ตัวเองเป็นหลักหันกลับมาทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นเป็นหลัก เปลี่ยนจากการเอาตัวเองเป็นที่ตั้งมาเป็นการเอาส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เป็นการสร้างความสุขอีกขั้นหนึ่งที่สูงกว่าความสุขแบบฉาบฉวย เป็นความสุขที่ประณีต ทำให้เกิดพลังใจในการต่อสู้กับปัญหาอย่างเป็นธรรมชาติ 2. “สร้างการเรียนรู้ร่วมกัน” กระบวนการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสรุปบทเรียน จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกคนยอมรับซึ่งกัน และกัน การรวมตัวของประชาชนจากหลากหลายสาขาอาชีพทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิด องค์ความรู้ และต่อเชื่อม ประสบการณ์อย่างกว้างขวาง เป็นการเสริมพลังซึ่งกันและกัน เป็นวิธีการสร้างพลังการเรียนรู้สูงสุด สร้างโอกาสให้ทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง 3. “สร้างการจัดการร่วมกัน” รัฐธรรมนูญใหม่ให้ความสำคัญต่อการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนฐานราก ให้ชุมชนท้องถิ่นมีสิทธิ หน้าที่ และบทบาทในการจัดการทรัพยากรสาธารณะมากขึ้น ทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง ประชาคมจะช่วยให้เกิดการประสานงานระหว่างองค์กรต่างๆ ทั้งในแนวราบกับท้องถิ่นอื่นๆ และในแนวดิ่งกับส่วนกลาง ทำให้เกิดการจัดการร่วมกันที่ทรงพลัง การพัฒนาที่ดีต้องก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและบูรณาการทั้งเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรมสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งประชาคมจะเป็นกลไกที่สำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนาให้เหมาะสมสอดคล้องกับศักยภาพและความต้องการของท้องถิ่น เริ่มตั้งแต่การวางแผนไปจนถึงการติดตามประเมินผล การพัฒนาในแนวทางดังกล่าวจึงไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จโดย อบต. ตามลำพัง ขั้นตอนในการพัฒนาตำบลอย่างบูรณาการมีดังต่อไปนี้ 2. “ทบทวนอดีต” จากปรัชญาที่ว่าก่อนกำหนดอนาคตต้องทบทวนอดีต ก่อนกำหนดวิสัยทัศน์ของตำบลต้องทบทวนเหตุการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นในอดีต ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดจากปัจจัยภายในหรือภายนอกตำบล เพื่อสรุปองค์ความรู้ และประสบการณ์จากความสำเร็จ และความล้มเหลวที่เป็นผลพวงจากการพัฒนาที่ผ่านมา 3. “เข้าใจปัจจุบัน” ทำการประเมินศักยภาพของตำบลจากข้อมูลประชากร อาชีพหลัก อาชีพรอง การถือครองที่ดิน การใช้ประโยชน์ที่ดิน แหล่งน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ ผู้นำชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น องค์กรชุมชน ภาคีการพัฒนาต่างๆ เป็นต้น รวมทั้งจัดลำดับความสำคัญของปัญหาและความต้องการ วิเคราะห์โอกาส และข้อจำกัดในการพัฒนา 4. “ศึกษาชุมชนต้นแบบ” ศึกษาดูงานชุมชนที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้ทีมงานตำบลเกิดความคิดริเริ่มและนำความรู้ที่ได้รับมาปรับใช้ในการวางแผนงานด้านต่างๆ เช่น การศึกษา การเกษตร ธุรกิจชุมชน อุตสาหกรรมชุมชน การเงินชุมชน สุขภาพชุมชน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายการเรียนรู้ของชุมชนในอนาคต 5. “กำหนดอนาคต” ใช้เวทีประชาคมเพื่อนำเสนอบทเรียนจากการทบทวนอดีต สรุปผลจากการประเมินศักยภาพของตำบล ทั้งความต้องการ โอกาส และข้อจำกัดของการพัฒนา ประโยชน์ที่ได้รับจากการศึกษาดูงาน ชุมชนต้นแบบ จากนั้นร่วมกันสร้างวิสัยทัศน์ กำหนดยุทธศาสตร์ มาตรการ แผนงาน กิจกรรม งบประมาณ และผู้รับผิดชอบ 6. “นำแผนไปสู่การปฏิบัติ” นอกจากการประสานงานภายในตำบลจะมีความสำคัญต่อการนำแผนไปสู่การปฏิบัติแล้ว ยังจำเป็นต้องประสานความร่วมมือกับองค์กรภายนอก โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐ เพราะชุมชนอาจต้องการความรู้เพิ่มเติม ต้องการการฝึกอบรม ต้องการงบประมาณสนับสนุน หรือต้องการให้รัฐดำเนินการให้ในบางกิจกรรม ทั้งยังต้องพัฒนาระบบการบริหารจัดการและกลไกในการติดตามและตรวจสอบที่ดีอีกด้วย แผนฯ 9 จะเริ่มใช้ในปี 2545 ให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา แผนชุมชนจึงได้รับความสนใจมากขึ้น หน่วยงานบางแห่งเริ่มนำเทคนิค/วิธีการต่างๆ มาใช้วางแผนพัฒนาตำบลแบบมีส่วนร่วม แต่ยังดำเนินการในลักษณะต่างคนต่างทำ ถ้าหน่วยงานเหล่านั้นร่วมกันสนับสนุนให้เกิดประชาคมตำบล ย่อมจะได้แผนพัฒนาที่สมบูรณ์กว่า ประหยัดเวลา บุคลากร และงบประมาณ รวมทั้งจะได้รับความร่วมมือในการนำแผนไปสู่การปฏิบัติอีกด้วย
|
กระบวนทัศน์ใหม่ >