การศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพของ "คน" ตั้งแต่เกิดจนตาย เนื่องจากมนุษย์ต้องเรียนรู้ ฝึกฝน และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต แต่ปรากฏว่า การปฏิรูปการศึกษาในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2542-2551) ยังไม่บรรลุเป้าหมาย การแก้ปัญหานั้นไม่ยาก ถ้ารู้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน? เพราะทุกปัญหามีทางออก และมักมีหลายทางออกด้วย แต่ต้องเลือกทางออกที่ "คุ้มค่า" ที่สุด วัดกันที่ผลลัพธ์ "เร็วกว่า ดีกว่า ถูกกว่า" ไม่ยึดติดความรู้สึก ความเคยชิน แม้แต่ตำรา หรือวิธีการที่ได้ผลในอดีต เพราะเหตุปัจจัยต่างๆ อาจเปลี่ยนแปลงไปแล้ว คำถาม คือ วัตถุประสงค์ แนวนโยบาย เป้าหมาย และกรอบการดำเนินงานของแผนการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ.2545-2559) ผิดพลาดตรงไหน? เพราะคิดแบบแยกส่วน? ขาดการบูรณาการในขั้นตอนปฏิบัติ? ขาดการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง? และ/หรือขาดพลังในการขับเคลื่อน? การจัดการศึกษาที่ดีต้องคำนึงถึงการเข้าถึงบริการทางการศึกษา และตอบสนองคนไทยทุกคน ทั้งคนเมือง คนชนบท คนวัยทำงาน ผู้สูงอายุ เด็กกลุ่มพิเศษ ฯลฯ ซึ่งดำรงชีวิตอยู่ในภูมิสังคมที่หลากหลาย และมีความต้องการที่แตกต่างกัน การจัดการศึกษาจึงมีความสลับซับซ้อน และเกี่ยวเนื่องกับองค์กรและหน่วยงานทุกประเภท รวมทั้งประชาชนทุกระดับ ตั้งแต่ปัจเจกบุคคล ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) องค์กรทางศาสนา สถานประกอบการ องค์กรวิชาชีพ สมาคมศิษย์เก่า พ่อแม่ ผู้ปกครอง เป็นต้น กระทรวงศึกษาธิการเป็นเพียงส่วนหนึ่งของประชาคมการศึกษาเท่านั้น ถ้าการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่ 2 มีระยะเวลา 5 ปี และภาพในอนาคตอยู่ที่ "คนไทยทุกคน" เป็นพลเมืองที่เก่ง ดี และมีความสุข ร่วมกันสร้างสรรค์ให้สังคมไทยอยู่เย็นเป็นสุขและประเทศชาติเจริญมั่นคงในกระแสโลกาภิวัตน์ได้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม จากหลักคิด "หนึ่งเป้าหมาย ไปได้หลายเส้นทาง" และ "ความสำเร็จมิได้เกิดจากองค์ประกอบเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็นการทำให้องค์ประกอบเหล่านั้นทั้งหมดทำงานร่วมกันอย่างลงตัวพอดี" การปฏิรูปการศึกษารอบ 2 นี้จะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อเลือก "เส้นทาง" ได้ถูกต้อง (คุ้มค่า) แก้ปัญหาถูกที่ ถูกวิธี ถูกเวลา โดยความร่วมมือร่วมใจของคนไทยทุกคน คำถามก็คือจะทำอย่างไรดี? เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์นี้ สภาการศึกษาได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อรับฟังความคิดเห็นและสรุปแนวทางการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่ 2 เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยให้ ศ.ดร.ยงยุทธ์ ยุทธวงศ์ เป็นประธาน และมอบให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ทำการจัดเวทีระดมความคิดเห็นในภูมิภาคต่างๆ เพื่อกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์ ใน 9 ประเด็น คือ แนวความคิดการจัดเวทีฯดังกล่าวข้างต้น เริ่มจาก "ประเด็นปัญหา" แล้วจึงกำหนด "เป้าหมาย" และ "ยุทธศาสตร์" เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ เป็นการคิดแบบแยกส่วน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะระดับปฏิบัติการจะได้รับประโยชน์ไม่มากนักในการนำไปใช้จัดทำแผนปฏิบัติการของสถานศึกษา จังหวัด หรือเขตพื้นที่การศึกษา "ทางเลือก" คือ ควรเริ่มที่ "กลุ่มผู้เรียน/กลุ่มคน" "ทางเลือก" นี้จะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมได้ทั่วถึงทุกภาคส่วนมากกว่า เวทีฯ จะมีขนาดเล็กลง ประเด็นระดมความคิดชัดเจน เพราะผู้เข้าร่วมเวทีฯมีความสนใจกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน นอกจากนี้ สกศ.ควรจุดประกายและกระตุ้นให้ทุกคนตระหนักถึงคุณค่าของการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่ 2 ของแต่ละกลุ่มคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์กรชุมชน อปท. องค์กรวิชาชีพ และสถานประกอบการ ดร.ประทีป วีรพัฒนนิรันดร์
มูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน prateep.v@hotmail.com 16 กุมภาพันธ์ 2552 |
กระบวนทัศน์ใหม่ >