เมื่อกล่าวถึงประเด็นการทำงานอย่างมีส่วนร่วม กับการยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมจากปรัชญาสู่การปฏิบัติอย่างไรนั้นต้องมองในภาพรวม ถ้าเราไม่เห็นภาพรวมแล้วไปคิดถึงส่วนย่อยจะทำให้หลงทางในการทำงานในยุคโลกาภิวัฒน์ ประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา สถิติธนาคารโลก 20 ปีที่แล้ว มีประเทศร่ำรวยๆ กว่าประเทศที่ยากจนอยู่ 77เท่า ปัจจุบันประเทศที่ร่ำรวยๆกว่าประเทศที่ยากจนถึง 122 เท่า นั่นเป็นในระดับโลกในประเทศกำลังพัฒนาพบว่าประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ของโลกที่มีการกระจายรายได้เลวที่สุด ตัวเลขล่าสุดที่สภาพัฒน์ พบว่าประชาชน 20% บนคือ 12 ล้านคน มีรายได้อยู่ 56% ของรายได้ประชาชาติ ขณะที่ 20%ล่างมีรายได้ 4% เพราะการขโมยในปัจจุบัน ไม่ใช่ขโมยกล้วยหนึ่งหวี แต่โกงกันเป็นพันเป็นหมื่นล้าน เช่น ที่คลองด่าน ค่าโง่ทางด่วน 2 ปีที่ผ่านมามีเรื่องราวเกิดขึ้นประมาณ 30 เรื่องใหญ่ๆ ร้องเรียนอยู่กว่า 80,000 ล้าน ปัญหาที่ใหญ่จริงๆ คือเรื่องคุณธรรม เกษตรกรที่ยากจนในปัจจุบัน ปัญหาใหญ่ไม่ใช่ว่าเขาไม่อยากแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แต่น่าจะติดอยู่กับอะไรสักอย่าง ตั้งแต่โครงสร้างทางการเมือง มีนักการเมืองกี่คนที่เข้ามาในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แล้วเอาเกษตรกรเป็นตัวตั้ง และไปให้ถึงมีกี่คน
ระบบเศรษฐกิจทำไมคนที่ค้าขายกับชาวบ้านรวยขึ้นทุกวัน แต่ชาวบ้านยากจนลง การเข้าถึงบริการทางการศึกษา การบริการจากภาครัฐ ก็เข้าถึงได้น้อยกว่า นักวิชาการบอกว่าถ้าจะแก้ปัญหาความยากจนต้องแก้เชิงโครงสร้าง แต่ว่าที่ผ่านมาเราเอาตัวเงินวัดมาตลอดก็มีปัญหา ถามว่าสมัยสุโขทัยสร้างบ้านสร้างเมืองมาอย่างไร ไม่มีคณะวิศวกรรม ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีอะไรทั้งหมด แม้แต่รถยก แต่พอปี 2504 “ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม” ต้องเอาฝรั่งมาวางแผนประเทศไทย ในแผนพัฒนาฯ ที่ 1 ดังนั้นผลพวง ณ ปัจจุบันที่ต้องพักชำระหนี้อะไรต่างๆ เนื่องจากทิศทางผิด เราพัฒนาประเทศโดยขาดเป้าหมายที่ชัดเจน เมื่อเป้าหมายไม่ชัดทิศทางก็ไม่ชัดเจน เป้าหมายชัดเจนควรเป็นอย่างไร ควรเป็นเรื่องของชีวิตที่ดีงามของคนไทย ไม่ใช่ ปลูกข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดได้เยอะๆ เพราะฉะนั้นเป้าหมายของกรมส่งเสริมการเกษตรก็คือ ชีวิตที่ดีงามของเกษตรกร การตีความชีวิตที่ดีงามควรจะเป็นอย่างไร ลองคิดดูว่าถ้าเรามีพี่น้องเป็นเกษตรกร ชีวิตที่ดีงามควรจะเป็นอย่างไร ก็เหมือนเราอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ เห็นทุกวันว่ามีการฆ่า ข่มขืน สมมติว่าถ้าเขาเป็นญาติเราจะรู้สึกอย่างไร ความรู้สึกมันต้องต่าง เจ้าหน้าที่ส่งเสริมจะไม่มีทางทำงานสำเร็จถ้าไม่สามารถปรับสิ่งเหล่านี้ได้ ชีวิตราชการทำอะไรบ้างให้กับชาวบ้าน ตลอดเวลาที่ทำมาทำเพื่อใคร
เรื่องของจิตวิญญาณ ความคิด กระบวนทัศน์ใหม่ วิธีคิด วิธีทำงานการให้คุณค่าต้องชัดเจน เป้าหมายที่แท้จริงคือตัวเกษตรกร จะทำอย่างไรให้เกษตรกรที่เรามีส่วนในการเกี่ยวข้อง รับผิดชอบ เป็นคนที่มีคุณธรรม มีความรู้ความสามารถ เป็นคนที่มีความมั่นคงในชีวิต แผนชุมชนในปี 43 ประมาณ 600 หมู่บ้าน ต้องชัดถ้าไม่ชัดทิศทางจะเป๋ ถ้ามัวไปคิดเรื่องอ้อยบ้าง มันบ้าง สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นเพียงกิจกรรมที่นำมาสู่การพัฒนาชีวิตให้ดีงาม งานกับชีวิตแยกจากกันไม่ได้งานจะต้องถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาชีวิตที่ดีงาม ท่านเป็นนักส่งเสริมมีงานมีหน้าที่บทบาทที่รับผิดชอบ ต้องเอางานมาพัฒนาตนเองให้มีจิตใจ มีชีวิตที่ดีงาม ควบคุมอารมณ์ได้เมื่อคุยกับชาวบ้าน เอางานนี้มาพัฒนาเราให้เท่าทันสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง อันนี้สำคัญ
ฐานคิดการพัฒนาเศรษฐกิจในอดีตตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเราเอาเงินเป็นปัจจัย เราบอกว่าไม่มีเงินทำอะไรไม่ได้ เราตั้ง ธกส. เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบันต้องพักชำระหนี้ 4 แสนล้านบาท เอาเงินเป็นเป้าหมายเป็นการพัฒนาแบบแยกส่วนพึ่งพาต่างชาติตลอด ทั้งเรื่องเทคโนโลยี ตลาด ทุน คนอื่นจะมารักประเทศชาติเท่าคนในบ้านเราได้อย่างไร ฉะนั้นเวลาไปคุยกับชาวบ้านก็เช่นกันจะให้คนอื่นมารักหมู่บ้านเท่าคนในหมู่บ้านได้อย่างไร เป็นไปไม่ได้ สำนึกรักท้องถิ่นต้องเกิด เจ้าหน้าที่ส่งเสริมจะงานสำเร็จก็ต่อเมื่อมีความรู้สึกว่าเป็นคนไทย ต้องตอบแทนบุญคุณของแผ่นดิน สำคัญ สิ่งที่เราทุ่มเท เงินทุนกว่า 200,000 ล้านบาท/ปี แต่ผลที่ ได้รับน้อยมาก เศรษฐกิจฟองสบู่ สิ่งแวดล้อม สังคม มีปัญหา ป่า ดิน น้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ เรามีแผนสิ่งแวดล้อมตั้งแต่แผนฯ 5 แต่สิ่งแวดล้อมประเทศไทยไม่เคยดีขึ้นเลย เรามีเขื่อนเจ้าพระยาเป็นแห่งแรก สมัยปี 2504
ตอนร่างแผนฯ 8 เป็นช่วงที่มีการปรับกระบวนทัศน์กันครั้งใหญ่ ตอนปี 2538 เรามีคนจนอยู่ 6.8 ล้านคน ปี 2542 มีการสำรวจคนจนดักดานของประเทศไทย มีคนจนดักดานอยู่ 7.2 ล้านคน รัฐบาลได้ลงทุนมหาศาลในการสร้างเขื่อน ปฏิรูปที่ดิน อะไรหลายๆ อย่าง และมีการสำรวจว่าคนจนดักดานกระจายตัวอย่างไร พบว่าจังหวัดชัยนาทเป็น 1 ใน 4 จังหวัดภาคกลางที่มีคนจนดักดานมากที่สุด เขื่อนมีประโยชน์ไหม ศูนย์ สถานีทดลอง เต็มไปหมด ถามว่ามีความรู้หรือไม่ มีข้อมูลหรือไม่ ต้องระวังว่าที่คนพูดเรื่องข้อมูลข่าวสาร จะท่วมหัวอยู่แล้ว อย่าไปหลงได้ปลื้มกับข้อมูล คัดขยะทิ้งไม่ได้ก็มีปัญหา เชื่อมโยงไม่ได้ก็ไม่เกิดข่าวสาร ไม่เกิดความรู้ รู้อยู่ลอยๆ ก็ไม่เกิดประโยชน์ ต้องสามารถเชื่อมโยงความรู้นั้นมาสู่ชีวิตได้ แล้วทดลองปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติได้จึงจะเกิดรู้แจ้งรู้จริง ไปสู่สังคมแห่งปัญญาให้ได้ ดังนั้นเป้าหมายปลายทางชีวิตที่ดีงามของเกษตรกรก็คือสามารถแก้ปัญหาและพัฒนาชีวิตด้วยตัวเองได้ ต้องชัดเจนว่ามีเป้าหมายอยู่ตรงนั้น ส่วนจะมีกิจกรรมอะไรต่างๆ อย่างไร แต่ละที่แต่ละแห่งไม่เหมือนกัน การเกษตรไม่ใช่ side specific เราทำพิมพ์เขียวมากี่ปีแล้ว กระทรวงเกษตรก็สั่งใหญ่เลย ต้องเลิกคิดเรื่องพิมพ์เขียว ไม่ได้เป็นเพียง side specific แต่เป็น family specific ด้วยซ้ำ บ้านติดกันไม่จำเป็นต้องทำเหมือนกันต้องดูว่าทำอย่างไรจึงเกิด หลังจากที่เรามีปัญหาเศรษฐกิจก็เกิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นมา เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้เอาเงินเป็นทุน แต่เอาคนเป็นทุน เกษตรกรไทยในปัจจุบันเข้าใจเรื่องทุนที่แท้จริงน้อยมาก และเขาจะติดขัดหมด ความทุกข์ก็คือความอึดอัดขัดข้อง ถ้าคนมีปัญญาไม่ทุกข์หรอก เศรษฐกิจพอเพียงใช้คนเป็นเป้าหมายต้องการให้คนมีสติปัญญา ร่างกาย จิตใจที่ดี เศรษฐกิจดี สังคมดี สิ่งแวดล้อมดีในเรื่องปรัชญาแล้ว ไม่คิดแยกส่วน คิดแบบองค์รวม หรือเรียกว่าบูรณาการ การเรียนรู้ที่นำไปสู่การพึ่งตนเอง
เมื่อพูดเรื่องต้นทุนกับชาวบ้าน และให้ชาวบ้านคิดพึ่งตนเองได้ ต้องทำความคิดเรื่องนี้ให้แตก วัตถุประสงค์หลักไม่ใช่เรื่องเงิน เงินเป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่จำเป็น ตัวอย่างช่างทำรองเท้าที่บริษัทแพน คิดเก่งมาก เขาเล่าให้ฟังว่าสมัยเด็ก เขาอยากได้รองเท้า ขอเงินพ่อ พ่อเขาบอกว่าให้ไปเก็บใบไม้มา จะเปลี่ยนใบไม้ให้เป็นเงิน โดยใช้ใบไม้มาทำเป็นปุ๋ยหมักผสมดินขาย ได้เงินเหมือนกัน โดยใช้สติปัญญา
แผนฯ 8 –9 แผนแล้ว เรายังไม่ค่อยเห็น ไม่เข้าใจ ตอนแผนฯ 8 ยังไม่พูดถึง / รณรงค์เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง แต่ในหลวงท่านทำมานานแล้ว เราเขียนแผนฯ 8 เมื่อปี 2538 คนก็อาจจะพูดขี่กระแสแต่ไม่เขาใจ การจะทำงานให้สำเร็จไม่ใช่คิดสำเร็จอย่างเดียว ต้องทำให้สำเร็จด้วย คิดสำเร็จไม่เกิดประโยชน์ ต้องเข้าใจและทำด้วย เรื่องทุนเหล่านั้นมันหายไป เรื่องคุณธรรม จริยธรรม เรื่องผู้นำ อบต. ชัดเจน เป็นญาติกันยังแทบจะฆ่ากัน ภูมิปัญญาท้องถิ่นหาย กองทุนหมู่บ้านที่ลงไป เอาไปใช้จ่ายอย่างอื่น ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เท่าไหร่ เงินที่ลงไปเฉยๆ ไม่มีประโยชน์ เงินต้องลงไปพร้อมกับความรู้และการจัดการ เรื่องสุขภาพคนเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว ประเพณีวัฒนธรรม สิทธิเสรีภาพ เมื่อก่อนคนอยู่กับป่าแล้วกรมป่าไม้ไปดึงมา ต้มเหล้าไปยึดมาให้นายทุนคนสองคนทำขายใหญ่โต ตอนหน้าหนาวก็ไปซื้อผ้าห่มแจกชาวบ้าน เงินออมไม่ต้องพูดถึงทรัพย์สินที่ดินอยู่กับใคร ชาวบ้านไม่มีที่ดินทำกิน พักชำระหนี้สี่แสนล้านเป็นคำตอบได้หรือไม่ คนอยู่กับครอบครัวไม่ได้ ต้องแยกย้ายไปหางานที่อื่นทำ กระบวนการเรียนรู้ การพึ่งตนเอง ทรัพยากรธรรมชาติ มีปัญหาหมดแล้วพัฒนาไปทำไม ถ้าคนจะทำงานเรื่องมีส่วนร่วม ไม่ต้องสู้กับใคร สู้กับใจตัวเองก่อน
1.ต้องคิดว่าคนมีระบบคุณค่า ต้องการทำความดี สิ่งเหล่านี้ต้องมาก่อน ถ้าทำไม่ได้มีปัญหา พอเรามีความคิดเชิงบวกแล้ว การทำงานเป็นทีมจะเกิด เพราะทุกคนมีภาระกิจหมดมีข้อจำกัด แต่เราต้องมีสมติฐานไว้ในใจ เพราะเราเชื่อว่าคนต้องการทำความดี
2.คนมีศักยภาพมากมายแตกต่างหลากหลาย ทุกคนมีดีอยู่ในตัว ศักยภาพที่มีอยู่ในตัวคนไร้ขีดจำกัด ทางจิตวิญญาณ มีการศึกษาพบว่าสิ่งที่มนุษย์ใช้อยู่ในปัจจุบัน เราเอาศักยภาพมาใช้ไม่ถึง 5 % ดังนั้นใครที่เกิดมาแล้วไม่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี ไปโรงเรียนดีๆ ไม่เป็นไรมีอีก 95% ให้นำมาใช้ได้ นักส่งเสริมการเกษตรต้องไปดึง 95 % นี้ขึ้นมาให้ได้ ศักยภาพคือสิ่งที่ยังไม่ได้นำมาพัฒนา มีอยู่ในตัวมนุษย์อยู่แล้ว ทั้งภาวะผู้นำ มีหมดในตัวเอง เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรเท่านั้นเองที่จะดึงศักยภาพเหล่านี้ขึ้นมาได้
3.ทุกสรรพสิ่งเชื่อมโยงกัน และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับงานชุมชน ขีดความสามารถในการตัดสินใจสำคัญ ต้องเป็นคนที่ใฝ่รู้ ฝึกฝน ทบทวน สรุปบทเรียนต่างๆ มีการแลกเปลี่ยน คนที่ทำงานลักษณะนี้จะเก่งเร็ว ต้องฝึกฝน (เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว เอาเงินมาฝึกให้คน 200 กว่าคน หัดทำเวทีชาวบ้านใช้เงินมหาศาลแต่ไม่ได้ผล เช่นเดียวกันกับโครงการ PAP เขียนตำราเป็นปึกๆ หายไปแล้ว ไม่สามารถนำมาใช้ได้) เพราะการเข้าไปทำงานในชุมชน แตกต่างหลากหลายมาก สถานภาพและความพร้อมของชุมชน ปัจจัยต่างๆ ฤดูกาลที่เขาไปแตกต่างกันก็ต่างแล้ว ขีดความสามารถในการ ตัดสินใจสำคัญ และที่สำคัญกว่านั้นคือจิตสำนึก คนที่จะทำงานชุมชนสำเร็จต้องเป็นคนที่ทุ่มเทจริงๆ เป็นคนเสียสละ ถ้าลองลงไปทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง จะเป็นคนที่มีพลังมาก ทำอย่างไรก็ไม่เหนื่อย เพราะการให้ถือได้ว่าสุดยอด การทำอะไรสักอย่างแล้วทำให้ชีวิตเขาดีงามขึ้นถือว่าเป็นสุดยอด
ความเชื่อว่าความสามัคคี ความรัก ความพร้อมเพรียงนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด อย่าไปหลงไหลได้ปลื้มกับเรื่องราวทั้งหมด ไม่มีคอมพิวเตอร์เราก็ทำงานได้ คนที่จะทำงานแบบมีส่วนร่วมได้ สิ่งที่ต้องสู้คือการต่อสู้กับตนเอง ไม่ได้ต่อสู้กับคนอื่น และคนอื่นก็ไม่ได้ต่อสู้กับท่านด้วย มันเป็นการชนะใจตนเองครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อวิธีคิดเปลี่ยน การทำงานก็ต้องเปลี่ยน ระบบการทำงานก็ต้องเปลี่ยนด้วย ไม่อย่างนั้นท่านนายกทักษิณ คงไม่บอก “คิดใหม่ ทำใหม่” ถ้าคิดใหม่ ทำแบบเก่าก็ล้ม ถ้าคิดเก่า ทำใหม่ก็ล้ม มันไม่พอดี ที่เราเคยเอาเงินเป็นตัวตั้งเดี๋ยวนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว เอางาน เอาชีวิตที่ดีงาม เอาความสุข ไม่ต้องแข่งขันกับใคร อย่าไปทำงานแข่งขันกับใครมันจะเครียด ทำอย่างช่วยเหลือเกื้อกูล แบ่งปัน งานที่เราเคยทำในลักษณะ T&V แรงจูงใจ ทั้งปุ๋ย-ยา ที่เคยแจกเกษตรกร นั่นคือภาษีอากรของคนทั้งประเทศ แรงจูงใจต่างๆ เหล่านั้นมันไม่พอแล้ว พลังไม่พอ ปัญหาซับซ้อนมาก มันต้องอาศัยแรงบันดาลใจ ( inside out) out side in คือตลาด แต่งานต้อง inside out ความคิดและจิตใจต้องสร้างพฤติกรรมอย่างที่เคยได้ยิน “สถานการณ์สร้างผู้นำ” เราต้องสร้างสถานการณ์ว่าข้างในเราเปลี่ยนหมด พฤติกรรมเราจะเปลี่ยน ที่เคยคิดเรื่อง พึ่งพาเทคโนโลยี ทุน ตลาด ต้องมาเน้นเรื่องการพึ่งพาตนเอง จากที่คิดเป็นเรื่องๆ แยกส่วน ปุ๋ย ยา จะต้องทำอย่างไร ใส่อย่างไร ต้องเลิก มาดูเรื่องเอาชีวิตเป็นตัวตั้ง กลับมานั่งคุยกันจากการถ่ายทอดความรู้ โดยศูนย์ฯ ในหลายๆ เรื่องไม่สำเร็จหรอก เลิกถ่ายทอด แล้วมาเรียนรู้ร่วมกัน อำนาจกฎระเบียบต่างๆ ล้วนเป็นสิ่งจำกัดการทำงาน จำกัดความคิดสร้างสรรค์ ต้องมีให้น้อยที่สุด ต้องร่วมกันทำช่วยกันทำ
ในเรื่องแพ้คัดออกทำให้เกิดการแข่งขัน แย่งชิง ทำให้ขาดความเอื้ออาทร โดยไม่รู้ว่าเกิดได้อย่างไร อย่างเช่น ในการสอบคนที่ทำได้ก็ได้ไป แต่คนที่ทำไม่ได้ คิดไม่ออก ต่อเวลาให้ก็ทำไม่ได้ แต่ถ้าเรามาช่วยกันคิด ร่วมกันทำทั้งห้อง เดี๋ยวเดียวก็เสร็จ จะเห็นภาพว่าถ้าอยู่กันแบบช่วยเหลือเกื้อกูล พัฒนาคนไปตามศักยภาพ จะให้คนพิการวิ่งเร็วเท่าคนขาดีได้อย่างไร ศักยภาพของคนไม่เหมือนกัน หลายๆ เรื่อง ทั้งร่างกาย ชีวิต จิตใจ พระพุทธเจ้าเองก็บอกบัวมี 4 เหล่า พนักงานก็เช่นกัน มี 3 ระดับ แบ่งเป็น เกรด A ทำในสิ่งที่ต้องทำโดยไม่ต้องสั่ง เกรด B ทำในสิ่งที่ต้องทำเมื่อถูกสั่ง เกรด C ไม่ทำในสิ่งที่ต้องทำแม้จะถูกสั่ง
ผมบอกพนักงานคุณอยากอยู่เกรดไหนขึ้นอยู่กับตัวคุณ แต่ข้าราชการกับเอกชนไม่เหมือนกัน บริษัทเวลาจะโปรโมทคนค่อนข้างชัดเจน ถามว่า เกรด A,B,C นั้นขึ้นอยู่กับ 3 เรื่อง เรื่องแรกโครงสร้างขององค์กร ถ้าโครงสร้างยืดยาว อำนาจมาก สมองฝ่อหมดเลย อันที่สองคือวัฒนธรรมการทำงาน ทำงานแบบมีส่วนร่วม หรือทำงานด้วยอำนาจ อันสุดท้ายคือคุณลักษณะของผู้นำ สำคัญที่สุดองค์กรจะเดินไปแนวทางไหนขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้นำเป็นสำคัญ
เมื่ออันที่หนึ่งต้องใช้คนเป็นศูนย์กลาง อันที่สองทำความเข้าใจเรื่องการมีส่วนร่วม การที่จะสามารถอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจว่าการมีส่วนร่วมคืออะไรใช้เวลานานกว่าจะสำเร็จ เราเข้าใจไม่เหมือนกัน ผมทำเครือข่ายหมอดินสามจังหวัด ให้กระดาษคนละแผ่นถามว่าจุดเป็นจุดตายของหมอดินคืออะไร ก็งง ตอบไม่เหมือนกันเลย เวลากรมพัฒนาที่ดินทำเรื่องหมอดินก็บอกชัดเจน 2 ปีแล้ว 3 จังหวัดคิดไม่เหมือนกันเลย ต้องชัดเจนเรื่องบทบาท เพราะฉะนั้นการมีส่วนร่วมก็คือ (chart ไข่ดาว) เอาเจ้าของปัญหาไว้ที่ไข่แดง ส่วนคนอื่นไว้ที่ไข่ขาว การมีส่วนร่วมคือการรวมพลังสร้างสรรค์ของทุกส่วน ทั้งเจ้าของปัญหาทั้งคนเกี่ยวข้อง แต่บทบาทแตกต่างกัน เจ้าของปัญหาต้องเป็นตัวหลักในการแก้ไขปัญหา เป็นตัวหลักในการตัดสินใจ ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นบริษัท มูลนิธิ ข้าราชการ ทำหน้าที่สองอย่าง คือเอื้อและอาทร เอื้อให้ไข่แดงตัดสินใจถูกต้องมากขึ้น จะจัดเวทีชาวบ้าน พาศึกษาดูงาน ให้ข้อมูลที่ถูกต้องก็แล้วแต่ อาทร หมายความว่า คอยแบ่งปัน ร่วมทุกข์ คอยให้กำลังใจเกษตรกร อยากเห็นเจ้าพนักงานเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่มีอาทร จะไม่มีเอื้อ
การขายยาขายเมล็ดพันธุ์แล้วมีของแถมไม่ใช่เอื้อนะ เมล็ดข้าวโพดพันธุ์ กโลกรัมละ 100 บาท แต่ซื้อคืนจากชาวบ้าน กโลกรัมละ 4 บาท เป็นการค้าที่ยุติธรรมหรือเปล่า
ถามว่าทิศทางนั้นนำเกษตรกรไปสู่การพึ่งตนเองหรือไม่ นักวิชาการแทนที่จะช่วยเหลือชาวบ้านให้ผลิตพันธุ์ใช้ในชุมชนได้ อย่างที่ ดร.พีรเดช พูด เกษตรกรที่กรมส่งเสริมการเกษตรควรจะไปเกี่ยวข้องเป็นเกษตรกรรายเล็ก รายใหญ่ไม่ต้องไปยุ่ง เขาไปสนใจบริษัทมากกว่า ใช้คนเป็นศูนย์กลาง เข้าใจเรื่องการมีส่วนร่วมอย่างลึกซึ้ง และเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ การปฏิบัติ inter active by learning reaction ไม่ใช่ผ่านการอ่าน การพูดคุย การฟัง ( ocean of information, river of knowledge, out a drop of wisdoms ) wisdom เกิดจากการพูดการฟังไม่ได้ ต้องเกิดจากการปฏิบัติ
การเรียนรู้ร่วมกัน เวลาที่เราจะพูดให้ชาวบ้านเข้าใจเรื่องการเรียนรู้ร่วมกันต้องมีเครื่องมือ 5 ร ประกอบด้วย
1. รวมคน เกิดพลังใจ
2. ร่วมคิด เพื่อให้มองปัญหาอย่างรอบด้าน การร่วมคิดจะมีพลัง มีโอกาสผิดพลาดน้อย เพราะคนแต่ละคนมีความสนใจต่างกัน มีศักยภาพที่แตกต่าง จะมองอย่างรอบด้านคนที่จะทำงานแบบมีส่วนร่วมได้นั้นต้องเป็นนักฟัง นักวิเคราะห์ ซึ่งหมายถึง การแยกแยะ เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยง ชัดเจน แล้วแบ่งงานกันทำ จะทำเรื่องอะไร
3. ร่วมทำ เกิดพลังการจัดการ ในอนาคตองค์กรชาวบ้านจะต้องเป็นองค์กรแห่งการจัดการ จัดการทุนที่ตนเองมีอยู่ทั้งหมดเพื่อนำไปสู่การพึ่งตนเอง และพึ่งพากันเองแล้วเมื่อแบ่งงานกันไป
4. ร่วมสรุปบทเรียน จะเกิดพลังแห่งปัญญา ทุกเรื่องเป็นครูหมด การกระทำใดที่บรรลุ หรือไม่บรรลุวัตถุประสงค์คือครู แต่ต้องวิเคราะห์ออกมาได้ว่าเพราะอะไร ไม่ใช่บอกว่าเกิดจากโชคดี หรือไม่ดี ต้องบอกได้ ต้องคิด ทุกคำถามต้องมีคำตอบ
5. ร่วมรับผลจากการกระทำ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เมื่อร่วมกันคิดทำสรุปบทเรียนงานล้มก็คือล้ม
และเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมาก 4 ยุทธศาสตร์
ยุทธศาสตร์ที่ 1 อย่ามองเรื่องอื่น ให้มองเรื่องเงิน
ยุทธศาสตร์ที่ 2 เล่นเรื่องการมีส่วนร่วมให้ชัดเจน แยกบทบาทให้ชัดเจน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 เรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ
ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างเครือข่าย กลุ่มงาน
เครือข่ายนั้นเป็นความสัมพันธ์เชิงแนวราบ เครือข่ายกับกลุ่มไม่เหมือนกัน กลุ่มยังมีเรื่องโครงสร้างอำนาจอยู่ เครือข่ายกลุ่มเล็กกับกลุ่มใหญ่เท่าเทียมกัน แต่ปัจจุบันเกษตรกรของเรากินน้ำใต้ศอกพ่อค้า โดยเฉพาะพ่อค้าคนกลาง ตั้งแต่เรื่องปุ๋ย ตกเขียว ต้องปลดแอกตรงนี้ ไม่อย่างนั้นโงหัวไม่ขึ้นสักที กระบวนการเครือข่ายเมื่อเป็นแนวราบ ความเป็นเพื่อนก็เกิด ความเห็นอกเห็นใจ การเอื้ออาทร ซึ่งกันและกัน การเรียนรู้ร่วมกันเกิด และพัฒนาไปสู่การจัดการร่วมกัน เวลาไปทำงานกับชาวบ้าน ผมไม่เคยให้เขาไปต่อสู้เรื่องตลาด เพราะมันยากเกินไป ผมอยู่ในธุรกิจ ผมรู้ว่าธุรกิจแข็งแรงขนาดไหน ผมพยายามกระตุ้นให้ชาวบ้านคิดถึงเรื่องลดต้นทุนการผลิต ให้ชาวบ้านพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกให้ลดลง ให้ชาวบ้านคิดถึงเรื่องตลาด ตังเองเป็นตลาดของตัวเอง ตัวเองต้องกันต้องใช้ คนในชุมชนต้องกินต้องใช้ นั่นแหละเป็นตลาด ให้เริ่มจากตรงนี้
เมื่อเครือข่ายเกิด การถ่ายทอดข้อมูลข่าวสาร ความรู้ เทคโนโลยีก็จะไปได้เร็ว ภาพง่ายๆ ความสัมพันธ์เชิงแนวราบของก็ flow ได้ง่าย ถ้าเป็นแนวดิ่งมันไหลจากบนลงล่าง ย้อนขึ้นไม่ได้ การพัฒนาเทคโนโลยีแบบมีส่วนร่วมก็เกิด การซื้อปัจจัยการผลิต การขายผลผลิตก็ดูจะมีกำลังมากขึ้น ให้เราชัดเจน ไม่มีสูตรสำเร็จแต่ต้องมีหลักการที่ชัดเจน หลักเรามีอยู่แล้วจะทำเรื่องอะไรก็แล้วแต่เป็นการมีส่วนร่วม คุยกันชัดเจนว่าเขาตัดสินใจอันนี้เราตัดสินใจอันนี้ เราตัดสินใจเขาเป็นคนเอื้อ ต่อไปถ้ากรมฯทำงานอย่างนี้ เรื่องการกระจายงบประมาณจะง่ายทำทีเดียว พอได้แผนชุมชนดี ทุกอย่างสมบูรณ์หมด หาผู้รู้มาแก้ปัญหา เสร็จแล้วสร้างเครือข่าย เครือข่ายเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่มนุษย์ค้นพบ ต่อไปอาจมีดีกว่านี้ แต่ ณ ปัจจุบันสรุปไว้อย่างนี้
การทำงานแบบมีส่วนร่วม หมายถึง
1 การทำงานี่เคารพศักดิ์ศรี และคุณค่าของเพื่อนร่วมงาน จะปากหวานอย่างไร แต่ท่าน ใจขมท่านก็ไม่ใช่ ท่านตอบตัวเองคนอื่นไม่ได้ตอบ
2. การทำงานที่สอดคล้องกับสถานภาพ (status) และบทบาท (Role) สถานภาพและ บทบาทเปลี่ยนแปลงไปตามงาน และเวลาส่วนตำแหน่งคงที่ งานบางงานเป็นงานระดับความคิดหัวหน้า ลูกน้องต้องเท่าเทียม ต้องมีสติในการทำงานเป็นเรื่องใหญ่ในการทำงานแบบมีส่วนร่วม
3. ผู้รับผิดชอบต้องมีบทบาทเป็นผู้ตัดสินใจ ส่วนผู้เกี่ยวข้องนั้นหนุนเสริมให้ผู้รับผิดชอบตัดสินใจได้ถูกต้อง (ถ้าไม่ตรงไม่ใช่ Concept) และถือว่าเป็นประเด็นที่ใหญ่มากที่สุด
ตัวอย่าง ปี 2543 ต้นปีราคาข้าวต่ำมากไม่ถึง 3 พันบาท มีการปิดถนนภาคกลาง ขอให้สำนักส่งเสริมพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 ช่วยเชิญเกษตรกรผู้นำ (Innovative farmer) เกษตรกรที่เป็นนักคิดในพื้นที่ได้ประมาณ 50 คน และเชิญนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ธกส. นั่งคุยกันที่มโนรมย์ และทำเวทีเหมือน ไข่ดาว และคนที่ไม่เป็นเกษตรกรห้ามพูด เพราะพูดมาเยอะแล้ว ถ้าเกษตรกรไม่ถามห้ามพูด ที่เชิญมาเผื่อเขาต้องการข้อมูลในการตัดสินใจ ทำเวที และบอกชาวบ้านถ้าให้เป็นนายก 15 นาที ราคาข้าวอย่างนี้จะทำอย่างไร พวกนี้เป็นนักคิดหมด 100 กว่าเรื่องที่เขาเสนอ น้ำมัน ปุ๋ย ดอกเบี้ย ต้องถูก 100 กว่าเรื่องที่ต้องแก้ไข และถามกลับไปว่า กระทรวงเกษตรดูแลเป็นร้อยพืช เราจะรอให้กระทรวงฯมาแก้ให้หรือ เฉพาะตรงนี้ปัญหาร้อยกว่าเรื่อง ทั้งกระทรวงคงมีปัญหาเป็นพัน เป็นหมื่นเรื่อง เราจะรอไหม และถามต่อ รวมเวลาที่ทุกๆคน ทำนามา เป็นระยะเวลา 1250 ปี ที่จะแก้ปัญหาคนที่อยู่ตรงนี้ (ดร. ประทีป) ไม่เคยปลูกข้าวสักต้น จะหวังอะไร จะทำอย่างไร
วิธีแก้ปัญหา คือ
1. ปัญหาโลกแตกตัดทิ้ง
2. ปัญหาที่แก้ไม่ได้ตัดทิ้ง
3. เรื่องที่จะให้คนอื่นทำตัดทิ้ง
สรุปแล้วเหลือปัญหานิดเดียว ค่อยๆแก้ทีละประเด็นใช้เวลา 4 ชั่วโมง ได้เทคโนโลยีการปลูกข้าว ต้นทุนต่ำ 2,000 กว่าบาท ตั้งราคาข้าวไว้ 2,800 บาท ไม่ขาดทุน ชาวบ้านหัวเราะบอกว่าอย่าพูดเล่น ใช้เวลา 4 ชั่วโมงได้เทคโนโลยี แล้วพิมพ์แจกเลย บอกว่าอย่าเชื่อให้ไปทดลอง เพราะแต่ละที่ไม่เหมือนกัน แล้วเจอกันทุกเดือน ปัจจุบัน เครือข่ายพนาผล มีสมาชิก 4000 คนใน 7-8 จังหวัด (นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี อุทัยธานี อ่างทอง สุพรรณบุรี กาญจนบุรี) แล้วเกิดกระบวนการ เครือข่ายมีกิจกรรมต่างๆ ทั้งเกษตรผสมผสาน พืชไร่ ข้าวอาศัยน้ำฝน ผัก ถ้าใครสนใจ เครือข่ายนี้ได้รับรางวัล จาก WHO ปลายปีที่แล้ว เวลามาประชุมจะห่อข้าวมากิน ทุกวันที่ 17 แล้วจะขยายงานได้อย่างไร ไม่มีค่ารถ ค่าเดินทาง
ผมได้อาสาที่จะเข้ามาช่วยทำงานกับหมอวิจารณ์ จัดตั้งสำนักใหม่ ชื่อสำนักการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส) เริ่มจากตั้ง concept ขึ้นมาก่อนเวลาจะทำอะไรต้องมี concept โดยเอาเครือข่ายเป็นตัวตั้ง เครือข่ายจะเป็นตัวคัดเลือกว่ากลุ่มไหนที่จะเข้ามาร่วมและให้ค่ารถ เลี้ยงข้าว เพื่อให้เขาได้เรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีที่พัฒนาแบบมีส่วนร่วมนี้ออกไป ประการที่ 2 เครือข่ายจะเจอข้าราชการดีๆ ทุกกระทรวง ทั้งสาธารณะสุข และอื่นๆ ทุกวันนี้ที่เรามีปัญหาเพราะเราไปยึดติดกับกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ไม่มีที่ไหนที่มีทุกส่วนราชการดีพร้อมต้องมีบางส่วนที่ไม่ได้เรื่องบ้างเสมอ เพราะฉะนั้นเครือข่ายพนาผลเมื่อเจอข้าราชการดีๆ จะเชิญเข้ามาร่วมงาน ออกค่าใช้จ่ายให้ และให้ไปคิดงานในส่วนที่รับผิดชอบเป็นการเสริม ประการที่ 3 จะสร้างคนโดยรับสมัครบัณฑิตใหม่ๆ ที่สนใจเรื่องชุมชน และสร้างพร้อมกับการจัดการเครือข่าย ประการที่ 4 ทำให้เป็นห้องเรียนของนิสิตนักศึกษา โดยให้นักศึกษามาร่วมทำงานวิจัยซึ่งหัวข้อวิจัยจะถูกพัฒนา คิดค้นโดยครือข่าย แล้วรับการสนับสนุนการวิจัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายพนาผลจะทำถึงเยาวชน
ที่ตำบลบ้านไร่ อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ เป็นตำบลใหญ่มากมี 23 หมู่บ้านที่ยากจน เป็นดินทรายปลูกมันสำปะหลัง 6 หมื่นกว่าไร่ ไม่มีกลุ่ม องค์กรชาวบ้านเลย เขาบอกว่ามีกลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มแม่บ้านที่ยังไม่ได้ทำอะไรเลย เมื่อปี 43 เดี๋ยวนี้คนละเรื่องเลย เคลื่อนใหญ่มากไม่ใช่เฉพาะตำบลนี้ แต่ใกล้เคียงอีก 7 ตำบล และมีของมาขาย ตอนนั้นมีคนตกงานเยอะ มีนายทุนเข้าไปซื้อที่เป็นพันๆ ไร่ ปลูกไม้โตเร็ว มีคนตกงานอยู่กลุ่มหนึ่ง ผมบอกว่าครูบาสุทธินันท์เอาไม้ยูคาฯมาทำเป็นเก้าอี้โยก ทำที่บุรีรัมย์ ตัวละ 3,000 บาท ออกวันละตัว อีกเดือนต่อมาช่างเฟอร์นิเจอร์รวมกลุ่มร่วมลงทุน และทำมาให้ดูเลย กลุ่มทำเฟอร์นิเจอร์ที่นี่ดัง ขายทางอินเตอร์เนตแล้ว เกิดกลุ่มชาวบ้านขึ้น 15 กลุ่ม หลังจากทำแผนชุมชน และเกิดกลุ่มออมทรัพย์ มาเคลื่อน การประชุม มีสมาชิกกว่า 700 กว่าคนจาก 1,200 คน มีวิทยุชุมชนด้วย
ที่พิษณุโลก ตำบลบ้านยาง อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก ไปทำแผนชุมชน ปี 43 เหมือนกัน พื้นที่ 60% เป็นป่า ชาวบ้านมีปัญหากับป่าไม้ตลอด เราเข้าไปทำงานจนชาวบ้านเวณคืนที่ดินจากป่าไม้ 7-8 กิโลเมตร แล้วทำท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จากเคยมีคนเข้าไปขนสมุนไพรทีละเป็นคันรถ เดี๋ยวนี้ชาวบ้านห้ามไม่ให้เข้าแล้ว ใช้เวลานิดเดียวในการทำแผนชุมชนเกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ที่ต่างๆเหล่านี้ ไม่ต้องเข้าไปบ่อย ชาวนาที่นี่ ชื่อลุงหวาน ธนาคารเข้าไปหาทุกปี แกบอกว่าเกิดมาไม่เคยมีหนี้เลย ตอนแต่งงานได้ควายตัวผู้มาสองตัว เลยขายแล้วไปซื้อตัวเมียมา เดี๋ยวนี้ลุงหวานมีควาย 24 ตัว แล้วทำเศรษฐกิจพอเพียง แกมีเงินเก็บ 2 ล้านกว่าบาท มีรายจ่ายน้อยมาก จะกินจะใช้อะไรแกมีหมด และปัจจุบันไม่ต้องเลี้ยงควายเอง ชาวบ้านขอยืมไปกินหญ้า
ตำบลหินลาด อำเภอวัดโบสถ์ ตอนกองทุนหมู่บ้านเข้าไป มี 9 หมู่บ้านมีหนี้อยู่ 27 ล้าน กองทุนหมู่บ้าน 9 ล้านไม่มีความหมาย ตอนก่อนชาวบ้านไม่เคยเห็นตัวเลข ที่ผ่านมาคนข้างนอกไปเก็บตัวเลข คนข้างนอกวิเคราะห์ คนข้างในไม่เคยได้อะไร ดังนั้นเรื่องของเขาๆ ต้องทำ ผมไม่ทำตัวเลขให้ชาวบ้าน ให้ชาวบ้านทำเองเท่าที่จำเป็น ในระดับพอเพียง ตัวเลขเป็นเรื่องหนึ่ง และในระดับวิสาหกิจชุมชนตัวเลขเป็นอีกเรื่องหนึ่ง การจัดการ การวิเคราะห์เป็นคนละเรื่อง ต้องดูว่าชุมชนตรงนั้นอยู่ในสถานภาพอย่างไร เมื่อเขาเก็บข้อมูลเองก็จะรู้สภาพของชุมชน ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น อบายมุข มากกว่าครึ่ง ปีหนึ่ง 22 ล้าน กินข้าวปีละ 6 ล้าน ลองเลิกสักปี หนี้ลดลงเลย รู้สภาพการกินการอยู่ในชุมชน เกิดตลาดท้องถิ่นของตนเอง ค่อยๆ เกิดสิ่งต่างๆ ชาวบ้านเก็บตัวเลขเอง วิเคราะห์เอง จะเกิดการกระตุ้นเตือน และเข้าใจสถานภาพของตนเอง เกิดการประเมินตนเอง ( self evaluation) เพื่อเข้าใจปัญหา แล้วจะเกิดระบบ การจัดการและการแก้ปัญหาด้วยตนเอง (self management) เรากำลังจะพาเกษตรกรเข้าไปสู่การพัฒนาและแก้ปัญหาด้วยตนเอง ต้องให้เขารู้จักการเก็บตัวเลข วิเคราะห์ และสังเคราะห์
สังเคราะห์หมายความว่าเรานำสิ่งต่างๆ มารวมกันแล้วเกิดคุณภาพใหม่ หลังจากที่เรามีข้อมูลข่าวสาร ความรู้มาเยอะมาทดลองทดสอบดีแล้ว นำมาสังเคราะห์เป็นชุด (Package) อย่าแยกส่วน ในเรื่องของความรู้ใหม่ การจัดการความรู้ใหม่ แล้วใช้เครือข่ายเป็นตัวแลกเปลี่ยน อย่าแลกเปลี่ยนความคิด ต้องแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รับผลจากการกระทำร่วม กลุ่มระดมมาอย่างไรต้องนำเสนออย่างนั้น อันนี้เป็นเรื่องสำคัญในการทำเวทีชาวบ้านไม่อย่างนั้นจะไม่ได้อะไร และต้องทะลุในแต่ละเรื่องไป กี่ครั้งเสร็จ อย่างไร ในเวทีแรกแล้วคนก็จะเข้าใจ การปฏิบัติสร้างความรู้และความรู้อยู่ที่ผู้ปฏิบัติ การทำงานไม่ให้เครียดก็คือ ใครไม่ทำไม่เป็นไร เราทำเราได้ความรู้ แต่ต้องทำงานให้เป็น เมื่อไรที่ทำงานแล้วเครียด รู้สึกอึดอัดขัดข้อง ผิดแล้ว วิธีทำงานผิดแล้ว
ยกตัวอย่าง ในการทำงานที่กลุ่มบริษัทแพนใช้เวลาเตรียมคนที่จะเป็นผู้จัดการแต่ละบริษัทใช้เวลาเตรียมคน 1 ปี ทุก 2 สัปดาห์ ผู้จัดการจะรู้เฉพาะเรื่องที่ทำไม่ได้ต้องรอบรู้ทันสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมทั่วโลก ทุกเรื่อง จนถึงสังคมระดับรากหญ้า เมื่อคนพวกนี้ไปเป็นผู้จัดการต้องมีมือ ก็คือผู้จัดการบุคคล ผมดูแล คนเหล่านี้ ผู้จัดการบุคคล 50 คน พนักงาน 4 หมื่นกว่าคน งานมาก ต้องคิดระบบทำงานแล้วสอนให้ผู้จัดการทำงานแบบมีส่วนร่วมแล้วเขียนบันทึกออกมา เดือนละ 1 ฉบับ พบว่าผู้จัดการบุคคลเก่งเร็วก็เลยเอาหัวหน้าแผนกมาฝึกการทำงานแบบมีส่วนร่วมอีก โดยให้ผู้จัดการบุคคลเป็นคนฝึกและถ่ายทอด เช่นเดียวกันกับการทำแผนชุมชน ทำเพียงไม่กี่ตำบล แล้วเกิดการถ่ายทอดความรู้และขยายผลไปเรื่อยๆ
ในการทำแผนชุมชนต้องมีตัวชี้วัดว่า ชุมชนเอาจริงหรือไม่ การตั้งกลุ่มลงทุน การลงทุนใดๆ ต้องทดลองเอง แล้วนำมาสรุปเป็นเทคโนโลยี โดยใช้ชาวบ้านทำ วิจัยเพื่อตนเอง มีเวทีให้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อตัวเขาเอง
ปัจจุบันไม่ได้อยู่นิ่งๆ มันเคลื่อนไปสู่อนาคตตลอด อนาคตที่เรามุ่งหวังก็คือสามารถพึ่งตนเองได้ หรืออย่างน้อยก็พึ่งพากันเองได้ สิ่งที่สำคัญต้องไปถอดทุนที่มีอยู่ ได้แก่ทุนทางสังคม วัฒนธรรม ภูมิปัญญา สิ่งแวดล้อม ทรัพยากร แล้วทำบนทุนที่มี แล้วชาวบ้านจะไม่ผิดหวัง และเชื่อว่าในยุคข้างหน้า ใครถือทรัพยากรไว้ได้จะมีอำนาจสูง เพราะความรู้ เทคโนโลยีสามารถถ่ายทอดกันอย่างรวดเร็วมาก อะไรต่ออะไร มันเปลี่ยนแต่รูปแบบ การล่าเมืองขึ้นในอดีตนั้น ปัจจุบันยังล่ากันอยู่เหมือนเดิม แต่รูปแบบเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็น การค้าเสรี WTO GAT อะไรก็แล้วแต่ มันเป็นยุคแห่งการล่าทรัพยากร ทุกวันนี้ทรัพยากรมันเสื่อมโทรมลง
ที่น่าเป็นห่วงคือ ที่ สปก. ที่กำลังจะแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ต้องระวังอย่าให้ถูกเปลี่ยนมือ ต้องบอกเกษตรกรว่าทั้งชีวิตตัวจะตายอย่าขายที่ดิน ไม่มีที่ดินจะเรียกตัวเองว่าเกษตรกรได้อย่างไร ไม่สนใจว่าจะทำการเกษตรแบบใด แต่ที่ดินต้องไม่เสีย ดินต้องไม่เสีย น้ำต้องไม่เสีย เขาถึงจะยั่งยืน แต่คนจนในเมืองต้องพึ่งพา โครงการเอื้ออาทรต่างๆ เพราะเขาไม่มีทรัพยากร เพราะฉะนั้นความยั่งยืนของเกษตรกรอยู่ที่ทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ความหลากหลายอันนี้ต้องไปให้ได้ ถามว่าเกษตรกรจะอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี รักษาทรัพยากรได้อย่างไร ถ้าเขาไม่มีสติปัญญา ความรับผิดชอบ และไม่เข้าใจเรื่องการทำงานอย่างมีส่วนร่วม ตรงนี้เป็น key word ที่สำคัญ สิ่งที่สำคัญ ต้องมีสติปัญญา มีความรับผิดชอบ แล้วต้องเข้าใจการทำงานอย่างมีส่วนร่วม จะช่วยให้เกษตรกรที่อ่อนแอแข็งแรงขึ้นทันท่วงที ถ้าสติปัญญาเกิดช้า จะตายไปก่อน ความรู้แจ้งรู้จริงต้องเกิดเร็ว การทำงานแบบมีส่วนร่วมจะทำให้ความรู้เกิดได้ และเกิดเร็ว ผมไม่เคยเชื่อเรื่องการแก้ปัญหาด้วยเงิน แต่ผมเชื่อเรื่องการแก้ปัญหาด้วยสติปัญญา ความรับผิดชอบ การทำงานอย่างมีส่วนร่วม
ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์
มูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน
prateep.v@hotmail.com
โทร.081-3065373