เป้าหมายของการพัฒนา คือ การพึ่งตนเองและพึ่งพิงกัน มนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นชุมชนและสังคม จึงต้องพึ่งพิงกัน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกคนให้คุณค่าและเห็นความสำคัญของกันและกัน เป็นการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่าง ทั้งความเชื่อ ความคิด ความรู้ ประสบการณ์ ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม คอยเป็นกำลังใจให้กันและกัน และร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรคไปสู่เป้าหมายที่ได้ร่วมกันกำหนดไว้ คำถาม คือ กระบวนทัศน์ที่พึงปรารถนาควรเป็นอย่างไร?
ความหมายของกระบวนทัศน์
กระบวนทัศน์ หมายถึง ความเชื่อ วิธีคิด วิธีให้คุณค่า มนุษย์ทุกคนมีความเชื่อพื้นฐานแตกต่างกันไปตามเพศ วัย สิ่งแวดล้อม พื้นฐานครอบครัว การศึกษาอบรม ฯลฯ ส่งผลต่อวิธีคิด วิธีให้คุณค่า อันนำไปสู่หลักคิดที่ใช้ตัดสินใจลงมือปฏิบัติจนเป็นนิสัย เป็นวิถีชีวิตของแต่ละคน และเมื่อหลายๆ ชีวิตมาอยู่รวมกันเป็นชุมชน ย่อมมีค่านิยม จารีตประเพณียึดถือร่วมกัน และหลอมรวมเป็นวัฒนธรรมชุมชนในท้ายที่สุด
ความเชื่อจึงควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ “ความเชื่อเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยน” เช่น คนที่เชื่อว่า “ไม่มีใครรู้ทุกเรื่อง ไม่มีใครไม่รู้อะไรเลย ทุกคนเป็นครูของเราได้ในสิ่งที่เขาทำเก่ง” คนเหล่านั้นย่อมทำงานเป็นทีมได้ดีกว่าคนที่เชื่อว่า “ตนเองรู้ทุกเรื่อง รู้ดีที่สุด” ซึ่งมักไม่เห็นคุณค่าและความสำคัญของเพื่อนร่วมงาน
ผู้ที่มีความเชื่อว่า “คนมีเงินมากๆ มีวัตถุมากๆ จึงมีความสุข” เป็นพวกเงินนิยม วัตถุนิยม ก็ยากที่จะดำรงตนอยู่บนความพอดีและพอเพียง แตกต่างจากพวกจิตนิยม ที่เชื่อว่า “ความสุขอยู่ที่ใจ” เพราะมักเป็นผู้ที่ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายประหยัด
คนที่คิดบวกมีโอกาสทำงานสำเร็จมากกว่าคนที่คิดลบ การคิดบวกต่อตนเองทำให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง การคิดบวกต่อเพื่อนร่วมงานทำให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของผู้อื่น เกิดการทำงานเป็นทีม การคิดบวกต่อสถานการณ์ทำให้มองปัญหาเป็นสิ่งท้าทายสติปัญญา เพราะหนึ่งเป้าหมายไปได้ถึงได้ในหลายเส้นทาง หนึ่งปัญหาจึงมีหลายทางออก
สตีฟ จอบส์ นักประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ของโลก กล่าวไว้ว่า “... วิธีเดียวที่จะทำให้คุณสามารถทำสิ่งที่ยอดเยี่ยมได้ก็คือ คุณจะต้องรักในสิ่งที่คุณทำ ...” คำถาม คือ เรารักงานส่งเสริมการเกษตรที่ยึดเป็นอาชีพจริงหรือไม่? เรายึดคุณภาพชีวิตของเกษตรกรเป็นเป้าหมายของความสำเร็จในการทำงานจริงหรือไม่? เราทำงานเพื่องานหรือไม่? ถ้าตอบว่า “ไม่” ก็แสดงว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องทบทวนและเปลี่ยนแปลงตนเองก่อนไปขับเคลื่อนให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของเกษตรกร
การปรับกระบวนทัศน์ของเกษตรกร
ในปัจจุบัน เกษตรกรมืออาชีพมีน้อยกว่าร้อยละ 10 ของเกษตรกรทั้งหมด อีกทั้งการรวมกลุ่มเกษตรกรก็ยังไม่เข้มแข็ง เกษตรกรชั้นนำเหล่านั้นใช้พื้นที่เท่ากัน แต่ทำกำไรได้มากกว่าเท่าตัว เมื่อเปรียบเทียบกับเกษตรกรอาชีพเดียวกันในชุมชน จึงส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูง ตัวอย่างเช่น ต้นทุนการผลิตข้าวของไทยสูงกว่าเวียตนามถึงตันละประมาณ 100 เหรียญสหรัฐ แสดงว่ากระบวนการส่งเสริมการเกษตรที่ผ่านมาไม่สามารถขจัด “จุดคอขวด” ในการเสริมสร้างขีดความสามารถของเกษตรกรให้เป็นมืออาชีพได้ ซึ่ง 4 “จุดคอขวด” ที่ต้องเร่งหาทางแก้ไขมีดังนี้
1. คนทำไม่ได้คิด คนคิดไม่ได้ทำ ทำให้การแก้ปัญหาไม่สอดคล้องกับความต้องการ แก้ไม่ถูกที่ ไม่ถูกวิธี ไม่ถูกเวลา เพราะขาดความเข้าใจปัญหา ข้อจำกัด ทรัพยากร และสถานการณ์ที่เป็นจริง
2. ใช้วิธีสั่งให้ทำ สอนให้จำ บอกให้เชื่อ ทำให้ผู้ปฏิบัติไม่ได้ฝึกคิดและตัดสินใจ จึงคิดไม่เป็น และแก้ปัญหาด้วยตนเองไม่ได้ ซึ่งแท้จริงแล้ว ไม่มี “สูตรสำเร็จ” ในการแก้ปัญหา หากแต่ต้องบริหารจัดการเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้เกิดความลงตัวพอดี
3. ขาดเป้าหมายสุดท้ายร่วมกัน ทำให้การขับเคลื่อนไร้ทิศทาง ขาดพลัง การมีเป้าหมายร่วมกันยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการทำงานเป็นทีม
4. คิดแบบแยกส่วน หรือการคิดแบบเหตุเดียวผลเดียว ทำให้เกิดการแก้ปัญหาแบบ “ตาบอดคลำช้าง” เพราะสรรพสิ่งในโลกนี้สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นมาลอยๆ โดยไม่มีเหตุปัจจัย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง “มีนั่น เพราะมีนี่ ทำสิ่งนี้ จึงเกิดสิ่งนั้น”
เป้าหมายของการออกแบบกระบวนการส่งเสริมการเกษตรจึงต้องมุ่งขจัด 4 “จุดคอขวด” ดังกล่าว โดยให้เกษตรกรเป็นกลไกหลักและเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาที่มีเป้าหมายชัดเจน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
เป้าหมายระยะสั้น คือ “กำไร” แต่เนื่องจากเกษตรกรไม่มีอำนาจต่อรองราคาผลผลิต จึงเน้นการลดต้นทุนและการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ส่วนเป้าหมายระยะยาว คือ “เกษตรกรมืออาชีพ” เป็นเกษตรกรที่ไฝ่รู้ คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้ เพื่อนำไปสู่การพึ่งตนเองได้มากขึ้น
กระบวนการส่งเสริมการเกษตรที่ดีต้องทำให้เกิดการปฏิรูปการเรียนรู้ของเกษตรกร ควรปรับเปลี่ยนวิธีการฝึกอบรมที่เน้นการให้ความรู้ (ป้อนให้) ไปเป็นการตั้งคำถามให้เกษตรกรหาคำตอบและทำกิจกรรมร่วมกัน (แสวงหา) เพื่อสร้างโอกาสให้เกษตรกรได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเรียนรู้จากการปฎิบัติ ซึ่งจะสร้างความเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้ เพราะการเกษตรไม่มี “พิมพ์เขียว” เหมือนการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน แต่ต้องจัดการปัจจัยที่เกี่ยวข้องให้ลงตัวพอดีในแต่ละเวลาและแต่ละพื้นที่ ระหว่างพันธุ์พืชกับปัจจัยแวดล้อม อาทิ ดิน ปุ๋ย น้ำ วัชพืช โรค แมลง ฯลฯ
กระบวนการส่งเสริมการเกษตรที่ดียังต้องมีพลังเพียงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายใน (“ระเบิดจากข้างใน”) เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ได้มีความยั่งยืน ดังนั้น ควรทำให้เกิด “การเคลื่อนใจ” ของเกษตรกรให้มีความเชื่อดังนี้
1. ทุกสรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยงกันและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
2. คนมีคุณค่าและต้องการทำความดี
3. คนมีศักยภาพที่แตกต่างหลากหลายและไร้ขีดจำกัด
4. ความรัก ความสามัคคี และความพร้อมเพรียงเป็นปัจจัยสำคัญนำสู่ความสำเร็จ
ความเชื่อดังกล่าวข้างต้นเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาตนเอง การทำงานและการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข อีกทั้งควรทำให้เกิด “การเคลื่อนความคิด” ของเกษตรกรให้หันกลับมา (ยูเทิร์น) “คิดพึ่งตนเอง” มั่นใจว่าตนเองมีความรู้ สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง
แนวทางการลดต้นทุนการผลิตพืช
เกษตรกรควรปรับปรุงเทคโนโลยีการเพาะปลูกอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดต้นทุนการผลิตไปพร้อมๆ กับการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ควรแนะนำให้เกษตรกรแบ่งไร่นาส่วนหนึ่งเป็น “ห้องทดลอง” ฝึกเกษตรกรให้ทำการวิจัย เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ทำไป เรียนรู้ไป เมื่อทดลองแล้วได้ผลดี จึงขยายผลการวิจัยนั้นในพื้นที่ของตนเอง
ขออัญเชิญแนวทางที่ในหลวงทรงพระราชทานให้ใช้ในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ คือ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาเป็นแนวปฏิบัติในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการส่งเสริมการเกษตรเพื่อลดต้นทุนการผลิตพืช กล่าวคือ เริ่มจากการเข้าใจสถานการณ์ ปัญหาอุปสรรคและวัตถุประสงค์ เข้าถึงเกษตรกร กลุ่ม เครือข่ายและพื้นที่เป้าหมาย หลังจากนั้นจึงพัฒนาต่อยอดให้ดีขึ้น สำหรับขั้นตอนหลักๆ ในกระบวนการส่งเสริมการเกษตรเพื่อลดต้นทุนการผลิตพืชควรมีดังนี้
1. กำหนดพื้นที่เป้าหมาย โดยสำรวจข้อมูล วิเคราะห์และกำหนดพื้นที่เป้าหมายของแต่ละพืชที่ต้องการลดต้นทุนการผลิต
2. จัดทำแผนที่ “เกษตรกรคนเก่ง” ในพื้นที่เป้าหมาย เป็นเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการเพาะปลูก ได้รับการยอมรับจากคนในชุมชน ไฝ่เรียนรู้ มีความสามารถในการสื่อสารและการถ่ายทอดเทคโนโลยี
3. จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ เพื่อให้ “เกษตรกรคนเก่ง” เหล่านั้นมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้หลักคิด ประสบการณ์และภูมิปัญญาซึ่งกันและกัน ควรตั้งคำถามให้เกษตรกรระดมความคิด ตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายจ่ายหลักๆ ในการเพาะปลูกมีอะไรบ้าง? เท่าไร? ถ้าต้องการลดค่าใช้จ่ายหลักๆ 4 แห่ง จะลดที่ไหนได้บ้าง? แต่ละแห่งลดได้เท่าไร? ลดได้อย่างไร? รวม 4 แห่ง ลดทั้งหมดได้เท่าไร? และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ต้องมีการฝึกอบรมในด้านใดบ้าง? เป็นต้น
4. คัดเลือกไร่นาเป็นแหล่งเรียนรู้ พิจารณาไร่นาของเกษตรกรคนเก่งที่มีจุดเด่น ในภาพรวมของการผลิต หรือกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งในกระบวนการผลิต เพื่อใช้สำหรับจัดตั้งเป็นแหล่งเรียนรู้
5. เตรียมความพร้อมแหล่งเรียนรู้ ชี้แจงทำความเข้าใจบทบาทและภาระกิจของเจ้าของแหล่งเรียนรู้ จัดทำทำบอร์ดแสดงข้อมูล ความรู้และเทคโนโลยี ฯลฯ
6. วิเคราะห์ “Training Needs” การลดต้นทุน เพื่อนำข้อมูลมาใช้พัฒนาหลักสูตรสำหรับการฝึกอบรมเกษตรกร
7. ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกร มีข้อควรระวัง คือ ต้องเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสม เกษตรกรนำไปปฏิบัติได้ ซึ่งแหล่งเรียนรู้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในการถ่ายทอดเทคโนโลยี
8. รวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายเกษตรกร เพื่อให้ขยายผลได้รวดเร็วขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนาที่หลากหลายในท้องถิ่น
การวางแผนเป็นขั้นตอนการนำงานในอนาคตมาทำในกระดาษให้สำเร็จเสียก่อน แผนงานที่ดีต้องช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้ “ดีกว่า ถูกกว่า และเร็วกว่า” เพราะช่วยป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในขั้นตอนการปฏิบัติได้มาก ขอแนะนำให้ศึกษา “ฉลาดวางแผน” (SMART planning) ในเว็บไซต์ www.banrainarao.com อาจช่วยให้โครงการฯ เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรมากขึ้น
ทีมงานจังหวัดควรเริ่มจากการตั้ง “เป้าหมาย” ของโครงการฯ ให้ชัดเจน แล้วตั้งคำถามว่า ถ้าต้องการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ต้องมี “ปัจจัยความสำเร็จ” อะไรบ้าง? ยังขาด “ปัจจัยความสำเร็จ” ใดบ้าง? ทำให้รู้ว่า ต้องดำเนินการในประเด็น (เรื่อง) ใดบ้าง? จากนั้นกำหนดเป้าหมายของแต่ละประเด็น และวิเคราะห์ว่า ถ้าต้องการบรรลุแต่ละเป้าหมาย คาดว่าจะติดขัดปัญหา (“จุดคอขวด”) อะไรบ้าง? แล้วกำหนด “กิจกรรม” เพื่อขจัด “จุดคอขวด” เหล่านั้น ก็จะได้แผนปฏิบัติการ
ขั้นตอนในกระบวนการส่งเสริมดังกล่าวข้างต้นมิใช่เพียงเพื่อมุ่งลดต้นทุนการผลิตเท่านั้น แต่เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เสริมหลักคิด หลักวิชา หลักปฏิบัติให้แก่เกษตรกร กระตุ้นให้เกิดการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายด้วย เพราะเป้าหมายระยะยาว คือ เพื่อให้เกษตรกรพึ่งตนเองและพึ่งพาอาศัยกันในชุมชนได้มากขึ้น
ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์
มูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน
prateep.v@hotmail.com
เอกสารประกอบการฝึกอบรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้ปุ๋ย
เพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสำหรับทีมงานระดับจังหวัด
กรมส่งเสริมการเกษตร
5 มกราคม 2555
โทร.081-3065373
หัวข้อที่เกี่ยวข้อง