“เมื่อพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องไปปลูกผักอย่างเดียว คนขายก๋วยเตี๋ยวก็เป็นเศรษฐกิจพอเพียงได้ ถ้ามีเงินที่จะลงทุนได้แค่ขายก๋วยเตี๋ยว ถ้าไปลงทุนอะไรที่ใหญ่โตก็ต้องพึ่งคนอื่นในระดับพอตัวก่อน หาประสบการณ์ก่อน ไม่ใช้คิดขยาย 10 สาขา ต้องเริ่มจากรถเข็นก่อน ทุกธุรกิจถ้าคิดว่าทำแบบเศรษฐกิจพอเพียงได้หมดเลย”
คนไทยหลายคนได้ยินเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" จากพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าในหลวงมีพระราชดำรัสในเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2517 ส่วนความหมายของคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงก็แล้วแต่จะตีความกันไป เพราะไม่มีมาตรฐาน แต่โดยส่วนตัวของผมนั้น คำว่า "พอเพียง" คือ "การพึ่งตนเอง"
ในด้านของการพึ่งตนเอง ช่วยให้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองได้และเมื่อนำมาประกอบกับ "ทฤษฎีใหม่" ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เรียกว่า "ทฤษฎีใหม่ 3 ขั้นตอน" จะเห็นว่าขั้นตอนที่หนึ่ง คือ ต้องพึ่งตนเอง ขั้นตอนที่สอง คือ การรวมตัวกันของคนที่พึ่งตนเองได้ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในหมู่บ้านหรือชุมชนใกล้เคียงกัน เพราะปัญหาอาจใหญ่เกินไปสำหรับคนๆ เดียวจะแก้ปัญหาได้หรือโอกาสอาจใหญ่เกินกว่าที่คนๆ เดียวจะตอบสนองได้ แต่ถ้าหากเป็นการรวมตัวของคนที่พึ่งตนเองไม่ได้ ทุกคนหวังพึ่งคนอื่น หวังพึ่งองค์กร องค์กรนั้นก็จะไม่มีความเข้มแข็ง ขั้นตอนที่สาม เป็นการสร้างพันธมิตรกับคนที่อยู่ต่างอาชีพ เช่นนักธุรกิจ ธนาคาร องค์กรพัฒนาเอกชน ข้าราชการ ฯลฯ ในลักษณะที่ต่างคนต่างเอื้อประโยชน์หรือสนับสนุนซึ่งกันและกัน แต่ไม่ใช่เป็นลักษณะหวังพึ่งพ่อค้า ข้าราชการหรือนักการเมือง ตัวอย่างเช่น พ่อค้าต้องการผู้ผลิต ผู้ผลิตก็ต้องการพ่อค้า ต่างคนต่างพึ่งตนเองได้แล้วจึงต้องรวมกันเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง ต้องรวมกับคนต่างอาชีพ เช่น การทำธุรกิจขนาดใหญ่การค้าขายกับเมือง คนในชุมชนอาจไม่รู้ว่าคนในเมืองมีรสนิยมอย่างไรควรจะออกแบบสินค้าอย่างไรหรือการทำธุรกิจนานาชาติ ถึงขั้นที่จะส่งออกต่างประเทศ ถ้าหากเป็นการรวมตัวของคนในชุมชนเดียวกันตามทฤษฎีใหม่ขั้นที่สองความคิดอาจไม่หลากหลาย วิสัยทัศน์อาจไม่กว้างพอ ไม่รูว่าตลาดต่างประเทศต้องการอะไร การบรรจุหีบห่อเป็นอย่างไร การสร้างพันธมิตรกับต่างอาชีพ ซึ่งเป็นทฤษฎีใหม่ขั้นที่สามจะช่วยให้เกิดความเข้มแข็ง
แต่ต้องไม่ลืมว่าทุกคนจะต้องพึ่งตนเอง การรวมกันเป็นการรวมของคนที่พึ่งตนเองได้ ไม่ใช่เอกชนที่เป็นพ่อค้าหวัง พึ่งเกษตรกรหวังว่าจะผูกขาดขายคนเดียว และไม่ได้หมายความว่า ผู้ผลิตอุตสาหกรรมชุมชนหวังพึ่งพ่อค้าอย่าเดียวในเรื่องตลาด ฉะนั้นขนาดของเศรษฐกิจพอเพียง จึงมีตั้งแต่เล็กโดยปัจเจกชนแต่ละคนที่พึ่งตนเองได้ แล้วค่อยๆ ขยายตัวขึ้นไปในรูปของชุมชน รูปของเอกชนท้องถิ่น และพัฒนาเป็นมหาชน เป็นบริษัทที่ใหญ่ขึ้นจนสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ นอกจากนี้ ธุรกิจที่เติบโตขึ้นโดยหวังพึ่งเงินทุนจากธนาคารหรือเงินทุนจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวก็ไม่ถือว่าเป็นเศรษฐกิจพอเพียง
บันได้ 3 ขั้น สู่ความพอเพียง
บันได้ขั้นแรก ในช่วงแรกของการดำเนินธุรกิจต้อง "พึ่งเงินออมของตนเอง" ความคิดที่ว่าเมื่อจะทำธุรกิจต้องกู้เงินมา ลงทุนก่อน ไม่กู้เงินทำไม่ได้ ย่อมตรงกันข้ามกับทฤษฎีเศรษฐกิจ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ พึ่งเงินออมของตนเองก่อนแล้วทำจากเล็กไป สู่ใหญ่ในระหว่างสะสมเงินออมก็สะสมประสบการณ์ไปด้วย ธุรกิจทุกอย่างต้องอาศัยประสบการณ์ และทักษะในการผลิต การตลาด การบริหารจัดการ ฯลฯ เมื่อมีเงินออมขนาดของธุรกิจก็จะใหญ่ขึ้นแบบนี้คือการพึ่งตนเอง ถ้าเริ่มทำธุรกิจจากการพึ่ง เงินออมของคนอื่นผ่านสถาบันการเงินก็ไม่เรียกว่าพอเพียง คือ ไม่พึ่งตนเอง การที่จะพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงจนถึงทฤษฎีใหม่ขั้นที่สาม ชุมชนต้องพัฒนาทักษะและศักยภาพของตนเองมากขึ้น โอกาสที่จะผิดพลาดถึงขั้นหมดตัวก็จะไม่เกิดขึ้น กลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ เมื่อมีทักษะในการประกอบธุรกิจแล้วอาจกู้เงินมาลงทุนในด้านเทคโนโลยีต่อไปได้
มิติของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นมีขอบเขตกว้างขวาง สามารถนำไปใช้ได้ตั้งแต่ธุรกิจขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ ตั้งแต่ ครัวเรือนจนถึงมหาชน ตั้งแต่ปัจเจกชนกระทั่งระดับชาติ การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ผ่านมาใช้ "ทฤษฎีเศรษฐกิจกระแสหลัก" ให้ต่างชาติ อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) องค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ฯลฯ เป็นผู้กำหนดทิศทางพัฒนาเศรษฐกิจแบบสูตรสำเร็จ ซึ่งองค์กรเหล่านี้คิดว่าการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้อยพัฒนามีวิธีเดียวคือ ต้อง "กู้เงิน" ถ้าไม่มีเงินจะพัฒนาไม่ได้
วิธีการดังกล่าวไม่ได้สร้างเศรษฐกิจพอเพียง แต่เป็น "เศรษฐกิจแบบพึ่งพา" โดยคิดว่า ถ้ากู้เงินแล้วประเทศไทยจึง จะพัฒนาได้ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด เพราะการกู้เงินจะสร้างหนี้ทันที มีภาระดอกเบี้ย ขณะที่ทักษะของคนไทยยังไม่ได้พัฒนา การนำสูตรสำเร็จนี้มาใช้โดยเริ่มต้นให้ค้าขายระดับชาติต้องกู้เงินตราต่างประเทศ การใช้หนี้จึงต้องพึ่งการส่งออกอย่างเดียว การเริ่มต้นด้วยการส่งออกต้องใช้เงินทุนสูง ใช้พื้นที่เพื่อการผลิตมากต้องกู้เงินจำนวนมาก แต่ขาดทักษะ จากนั้นนำวิธีบริหารจัดการแบบต่างชาติมาใช้ทั้งหมดไม่มีการประยุกต์เทคโนโลยีให้เหมาะสม โอกาสผิดพลาดจึงเกิดขึ้น ทำให้ต้นทุนสูงกว่าประเทศอื่น และไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ต้นทุนที่สูงกว่าต่างชาติคือ การขาดทุนของเกษตรกร การขาดทุนของภาคอุตสาหกรรม ภาระหนี้สินของเอกชน ส่งผลให้หนี้สินของประชาชนและหนี้สินของชาติเกิดขึ้นตามมา เพราะเราไม่ใช้เศรษฐกิจพอเพียง ไม่อาศัยเงินออมของตน
บันไดขั้นที่สอง คือ เงินออมในชุมชน แล้วสนันสนุนให้คนในชุมชนที่เป็นคนดีและเก่งนำเงินที่ชุมชนออมได้ไปลงทุนทำธุรกิจ บุคคลนั้นต้องสามารถใช้เงินคืนทั้งต้นทั้งดอก ซึ่งชุมชนย่อมทราบดีว่าผู้ใดมีความขยันขันแข็ง ไม่ติดอบายมุข ฯลฯ และชุมชนยังมีโอกาสได้เรียนรู้การบริหารจัดการเงินของชุมชนด้วยตนเองอีกด้วย
บันไดขั้นสุดท้าย คือ เงินออมของประเทศ ถ้าชุมชนมีศักยภาพมากขึ้นในการบริหารจัดการด้านการผลิต การแปรรูป การตลาด ฯลฯ จึงจะสามารถนำเงินออมของคนทั้งประเทศไปลงทุนทำธุรกิจได้ แต่ปัจจุบันเราพึ่งเม็ดเงินจากต่างประเทศ
ถ้าเราไม่พึ่งเงินจากต่างชาติมากนัก จะไม่เป็นหนี้หัวโตอย่างทุกวันนี้หนี้สินในปัจจุบันมีสาเหตุจากเราพยายามโตเร็ว หวังเก่งเร็ว หวังรวยเร็ว โดยพึ่งเงินออมของต่างชาติที่เข้ามาในช่วงเปิดเสรีทางการเงิน (บีไอบีเอฟ) ทำให้เกิดภาระดอกเบี้ยตามมาแทนที่เราจะพึ่งเงินออมในประเทศอย่างเดียว โดยธนาคารอนุมัติโครงการที่เห็นว่าดีที่สุดให้แก่บุคคล/ทีมงานที่มีทักษะดีที่สุดรับไปดำเนินการ ก็มั่นใจได้ว่าธนาคารจะได้รับเงินต้นพร้อมกับดอกเบี้ยคืน
เมื่อเงินออมของต่างประเทศทะลักเข้ามา อัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่ธนาคารและสถาบันการเงินได้สร้างความร่ำรวย โดยการปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยสูง ให้โบนัสพนักงาน 8 – 24 เดือน โครงการที่ขอกู้เงินก็ไดรับอนุมัติทั้งหมดและยังเสนอว่าพร้อมให้เงินกู้เพิ่มโดยเฉพาะโครงการบ้านจัดสรร คอนโดมีเนียม อาคารพาณิชย์ รีสอร์ท ทำให้เกิดการลงทุนที่มากเกินไป ขายไม่ออก ราคาตก ชาดทุน ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้
รัฐบาลเชื่อว่าการเปิด บีไอบีเอฟ เป็นการพัฒนาอีกขั้นหนึ่ง เพราะเราเชื่อมั่นเศรษฐกิจกระแสหลักตามการชี้นำของ ตะวันตก ไม่ได้ไตร่ตรองถึงข้อดีข้อเสีย คิดแต่เพียงว่าถ้าเงินเข้ามากๆ ประเทศไทยจะเป็นเสือตัวที่ห้า คนไทยจะได้กินดีอยู่ดี แต่ไม่คิดว่าจะเป็นหนี้หรือเปล่า
หากเราเดินตามแนวพระราชดำริของในหลวงเมื่อ 24 ปีที่ผ่านมา และรัฐบาลเข้าใจคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง คงไม่เกิดวิกฤต แต่ขณะนั้นไม่มีใครเข้าใจเลย เราจึงพลาดพลั้งไป และวันนี้เราลำบากกันเพราะเราไม่พอเพียง ประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ดีของเศรษฐกิจพอเพียง เพราะพัฒนาประเทศโดยไม่ต้องใช้เงินกู้จากภายนอก แต่ใช้เงินออมจากภายในประเทศ
เศรษฐกิจพอเพียงคือทางออกที่ดีที่สุด
เศรษฐกิจกระแสหลักได้สร้างวิกฤตขึ้นทั่วโลก อาทิ ไทย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ลาตินอเมริการ ประเทศที่เปิดเสรีทางการเงินในขณะที่ศักยภาพของตัวเองยังไม่พร้อม เศรษฐกิจจะมีปัญหา เศรษฐกิจของจีนยังอยู่ได้เพราะไม่เปิดเสรีทางการเงิน อีกตัวอย่างหนึ่งคือไต้หวัน เมื่อก่อนศักยภาพยังไม่พร้อมก็ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนและไม่ให้เงินออกโดยเสรี เมื่อศักยภาพบุคลากรดีขึ้น ได้เปรียบดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดจึงเปิดเสรีทางกการเงิน
ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดของสังคมไทย แต่ไม่ใช้ทำได้ง่ายๆ ก่อนอื่นจะต้องทำใจก่อน ในหลวงทรงตรัสไว้ว่าต้องถอยหลังก่อน เพราะเรามีวิถีชีวิตบนเศรษฐกิจแบบพึ่งพามาโดยตลอด จึงต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ ปรับใจให้เริ่มต้นจากเล็กๆ ก่อน ไม่ใช้คิดทำอะไรก็จะจากใหญ่ๆ อย่างเดียว
คนไทยต้องปรับความคิดกันใหม่ โดยกลับไปพึ่งตนเองก่อน จะต้องประหยัดมัธยัสถ์มากขึ้น ในยุคเศรษฐกิจฟองสะบู่ เรากินอยู่สบาย ไม่ใช่เพราะว่าเราเก่ง แต่เรากู้เขามาใช้จ่ายอย่างสบาย และคิดว่าสามารถคืนเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยได้ แต่ขณะนี้ภาพมายาหายไปแล้ว ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นเราจึงต้องถอยมาพึ่งตนเองก่อน
ช่วงแรกๆ ของการพึ่งตนเองจะต้องอดออมมากขึ้น จะมีความลำบากด้านจิตใจ ในระดับจุลภาค ประชาชนต้องถอยมา อย่างที่ในหลวงทรงตรัสไว้ว่า เราต้องยอมถอยหลังเขาคลอง เพราะพายุข้างนอกแรงเหลือเกินถอยหลังเข้าคลองก่อนแล้วค่อย เดินหน้าออกไป
สำหรับปัญหาหนี้สินนั้น บางคนไม่ได้ตั้งจากศูนย์ แต่เริ่มจากติดลบ ก็คงจะต้องประนอมหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ ถ้าไม่ดำเนินการจะเอาเงินจากที่ไหนมาชดใช้ ควรเอาหนี้ที่มีอยู่มาผ่อนเป็นระยะยาว ซึ่งรัฐบาลยังไม่ยอมทำ รัฐบาลไม่ยอมรับว่ามีหนี้ที่ไม่สามารถใช้คืนได้ทั้งหมดในขณะนี้เนื่องจากเงินตราต่างประเทศมีไม่มากพอ รัฐบาลยังมีความคิดที่จะประกาศพักชำระหนี้ แต่เกรงว่าจะเสียศักดิ์ศรี ไอเอ็มเอฟก็ไม่อยากให้ทำ และรัฐบาลเองก็มีท่าทีไม่ยอมรับด้วย ขณะที่เกาหลี้ใต้ซึ่งกู้เงินจากไอเอ็มเอฟยอมรับว่าไม่สามารถใช้หนี้ได้ในขณะนี้ จึงทำการประนอมหนี้ไปแล้ว และเร่งทำงานหนักเพื่อหาเงินมาใช้
สาเหตุที่รัฐบาลไม่ทำอย่างนั้นเพราะยังฝันหวานว่าไม่มีปัญหา ถ้าเราเป็นเด็กดีอยู่ในโอวาทของไอเอ็มเอฟ จะมีคนนำเงินมาให้กู้ระยะยาว เพื่อนำไปใช้หนี้ระยะสั้น จึงไม่ต้องประนอมหนี้ และเชื่อว่าถ้าแก้กฎหมายกีดกันทางการค้า แก้ ปว.281 จะมีต่างชาติมาลงทุน ได้เม็ดเงินเข้ามา แล้วเราก็จะฉวยเอาเม็ดเงินนี้ไปใช้หนี้เขา อีกอย่างหนึ่ง คือ การขายของเก่ากิน ขายรัฐวิสาหกิจ ให้ต่างชาติ เพื่อเอาเงินมาใช้หนี้ระยะสั้น
เป็นการคิดคนละทฤษฎีกับเศรษฐกิจพอเพียง คือ "พึ่งเขาต่อ" ไม่มีรัฐบาลไหนยอมรับความจริงและคิดที่จะพึ่งตนเอง รัฐบาลเชื่อไอเอ็มเอฟแทนที่จะคิดว่า ไม่มีธนาคารใดโง่ให้เงินกู้ระยะยาวเพื่อไปใช้หนี้ระยะสั้น แม่แต่ธนาคารที่ให้เรากู้อยู่ในขณะนี้ ก็ยังต้องตั้งสำรองในต่างประเทศ เพราะเครดิตประเทศไทยเสียไปแล้ว เป็นการคาดหวังที่ไม่พึ่งตนเอง โดยหวังว่าจะมีธนาคารดีๆ มาเป็นที่พึ่ง มีมิตรประเทศมาช่วยเรา ไอเอ็มเอฟก็เป็นนักบุญที่ดี
เมื่อพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องไปปลูกผักอย่างเดียว คนขายก๋วยเตี๋ยวก็เป็นเศรษฐกิจพอเพียงได้ ถ้ามีเงินลงทุนได้แค่ธุรกิจขายก๋วยเตี๋ยว ถ้าไปลงทุนอะไรที่ใหญ่โตก็ต้องพึ่งคนอื่นในระดับที่พอตัวก่อน หาประสบการณ์ก่อน ไม่ใช่คิดขยาย 10 สาขา อาจเริ่มจากรถเข็นก่อน ธุรกิจทุกประเภทสามารถทำแบบเศรษฐกิจพอเพียงได้
บางคนอาจจะทำธุรกิจโดยไม่ลงทุนทั้งหมด สมมติว่ามีเงิน 6 ล้านบาท ก็ไม่ใช่นำไปลงทุนทั้งหมด ลงทุนเพียง 1 ล้านบาท หาประสบการณ์ สร้างทักษะ แก้ไขข้อบกพร่อง จนเกิดความชำนาญเพิ่มขึ้น แม้แต่ขายก๋วยเตี๋ยวก็ต้องรู้ว่าทำเลที่ตั้งเหมาะสม หรือไม่ ถ้าเริ่มแบบไม่รู้ แล้วเปิดร้านใหญ่ๆ แม่ครัวก็ไม่เก่ง รับรองว่าขาดทุนแน่นอน แต่ถ้าเป็นรถเข็นตรงนี้ขายไม่ได้ก็เข็นไปขาย ที่อื่น จนกระทั่งพบว่าที่ไหนขายดี จึงเซ้งร้าน เมื่อกิจการลงตัว จะกู้เงินมาขยายธุรกิจก็ได้ ไม่ใช่ว่าเศรษฐกิจพอเพียงจะกู้เงินไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าทำธุรกิจใหญ่ๆ ไม่ได้ แต่ไม่ควรเริ่มจากงานที่ไม่มีทักษะ โดยคิดแต่จะรวยเหมือนเขาเร็วๆ ขณะที่ยังขาด ประสบการณ์
เศรษฐกิจพอเพียงยังโยงมาถึงภาคอุตสาหกรรมได้ หลายคนเคยว่า "เครือสหพัฒน์" เป็นบริษัทที่ค่อนข้างอนุรักษ์ เต่าล้านปี ตามเขาไม่ทัน เราทำอะไรก็เล็กๆ เป็นปรัชญาตั้งแต่สมัย ดร. เทียม โชควัฒนา ที่ให้ทำธุรกิจเล็กๆ แล้วค่อยๆ โต ท่านจะสอนว่ามีเงินอยู่ 10 บาท ให้ลงทุนเพียง 2 บาท เพราะอย่าไปคิดว่าลงทุนแล้วจะต้องได้เสมอไป ต้องคิดเผื่อเสียด้วย ทำอะไรต้องคิดเผื่อหมดตัว ทำให้เราฉลาดขึ้น แต่ถ้าสายป่านขาดแล้ว บทเรียนก็ไม่มีและแก้ตัวไม่ได้
ณรงค์ โชควัฒนา
ประธานกรรมการบริหารกลุ่มแพน เครือสหพัฒน์
***จากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับครบรอบ 2 ปี วันที่ 21 ตุลาคม 2541