การพัฒนาการเกษตรควรมองปัญหาอย่างเป็นองค์รวม การคิดแบบแยกส่วนเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และหลายครั้งเป็นการย้ายปัญหา
ขอแบ่งระบบนิเวศของประเทศไทยออกเป็น 4 ประเภท คือ เกษตร ป่าไม้ น้ำจืด และทะเล ซึ่งแต่ละระบบต่างก็ประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต สิ่งมีชีวิต ได้แก่ พืช สัตว์ และจุลินทรีย์ ส่วนสิ่งไม่มีชีวิต ได้แก่ แร่ธาตุ ดิน น้ำ (น้ำฝน น้ำชลประทาน) ลม (ความชื้น ก๊าซ) ไฟ (แสงแดด อุณหภูมิ) รวมถึงสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์คิดค้นสร้างขึ้นด้วย ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งชนิด ขนาด จำนวน และหน้าที่
ภายใต้กฎธรรมชาติ ทุกสรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยงสัมพันธ์กันและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ระบบนิเวศเกษตร ป่าไม้ น้ำจืด และทะเล จึงเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน เปรียบเสมือน จิ๊กซอว์ ที่ประกอบขึ้นเป็นประเทศไทย ทุกระบบย่อยๆ ไม่หยุดนิ่ง ต่างปรับตัวเข้าสู่ สมดุล ตลอดเวลา เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งภายในและภายนอกระบบ
ป่าธรรมชาติเป็นระบบนิเวศแบบปิด คล้ายกับการเลี้ยงปลาในตู้กระจก ถ้าจัดระบบระบบนิเวศในตู้ปลาให้สมดุลได้ ก็ไม่ต้องให้อาหารปลา เปลี่ยนต้นไม้ หรือเปลี่ยนปลา เพราะทุกชีวิตพึ่งพิงอิงอาศัยกันอย่างลงตัวพอดี แต่ระบบเกษตรเป็นระบบนิเวศแบบเปิด มีการนำผลผลิตออกจากพื้นที่ในปริมาณมาก เช่น ในเขตชลประทาน ทำนาปีละ 2-3 ครั้ง และเก็บเกี่ยวผลผลิตออกจากพื้นที่ 2-2.5 ตันต่อไร่ต่อปี
ฉะนั้น การออกแบบระบบเกษตรที่ไม่ต้องพึ่งปัจจัยการผลิตจากภายนอก หรือระบบเกษตรธรรมชาติ จึงเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ดินเสื่อมโทรม
ป่าที่มีความสมบูรณ์ย่อมเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่การเกษตร กรณีชุมชนที่อยู่ติดกับป่า ป่ายังเป็นแหล่งอาหาร ยารักษาโรค และพลังงาน ในทางกลับกัน พื้นที่การเกษตรที่สมบูรณ์ เกษตรกรจะพึ่งตนเองได้มากขึ้น ต้นทุนการผลิตจะต่ำ ย่อมช่วยลดการบุกรุกทำลายป่าได้
การเกษตรที่ไม่ก่อมลพิษทางน้ำช่วยฟื้นฟูแหล่งน้ำได้อีกทางหนึ่ง ชุมชนท้องถิ่นจะมีทรัพยากรประมงเพื่อการดำรงชีพและการประกอบอาชีพได้อย่างพอเพียงและยั่งยืน
ชาวไร้อ้อยอุดรธานีเล่าว่า เริ่มปลูกอ้อยตั้งแต่ปี 2515 ได้ผลผลิตอ้อยยอด 15 ตันต่อไร่ และอ้อยตอ 10 ตอ แต่ปัจจุบันต้องปลูกใหม่ทุกปี มีค่าใช้จ่ายสูง 7-8,000 บาทต่อไร่ ผลผลิตอ้อยยอดก็เหลือเพียง 8-10 ตันต่อไร่ เพราะดินเสื่อมโทรม หน้าดินแน่นทึบ น้ำฝนจึงเป็นประโยชน์กับอ้อยน้อยลง แต่กลับไหลบ่ากัดเซาะหน้าดิน ทำให้ดินเสื่อมโทรมเร็วยิ่งขึ้น
ข้อมูลดังกล่าวยังสะท้อนภาพว่า การวิจัยพัฒนาและการส่งเสริมการเกษตรในช่วง 35 ปีที่ผ่านมา ไม่ตอบโจทย์ชีวิตของชาวไร่อ้อย ซึ่งเกษตรกรปลูกข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ก็อยู่ในสภาพที่ไม่แตกต่างกัน
ระบบเกษตรยั่งยืน ควร
(1) เป็นมิตรกับดิน น้ำ ป่า และความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นทุนทางธรรมชาติแวดล้อมที่สำคัญที่สุดในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และเป็นรากฐานสำคัญในทุกมิติของการพัฒนาประเทศ
(2) ไม่ทำลายวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น หรือทุนทางสังคม ซึ่งช่วยให้คนในชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
(3) ให้อาหารสุขภาพ หรือทุนสุขภาพ ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค และ (4) สร้างกำไร (รายเหลือ) อย่างเป็นธรรมให้แก่เกษตรกร
ดัชนีชี้วัดความสำเร็จของการพัฒนาระบบเกษตรจึงมิใช่เพียงตัวเลขของผลผลิตและกำไรเท่านั้น แต่ควรนำผลกระทบที่มีต่อดิน น้ำ ป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นและความปลอดภัยด้านอาหารมาพิจารณาร่วมด้วย
เกษตรกรควรเป็นกลไกหลักในการพัฒนาระบบเกษตรยั่งยืน เริ่มจากการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ให้หันกลับมา (ยูเทิร์นความคิด) พึ่งตนเองและพึ่งพิงกันในชุมชน โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในการแสวงหาคำตอบให้กับตนเอง
คำถาม คือ
(1) เป้าหมายของการพัฒนาระบบเกษตรยั่งยืนคืออะไร? - การประกอบสัมมาชีพ อาชีพที่ไม่เบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม
(2) แนวทางการพัฒนาระบบเกษตรยั่งยืนควรเป็นอย่างไร? - ใช้แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ เน้นระบบเกษตรที่ยึดโยงกับภูมิสังคม การจัดการทรัพยากรในไร่นาด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน พึ่งปัจจัยการผลิตจากภายนอกน้อยที่สุด และสนองตอบความต้องการในครัวเรือนก่อน แล้วจึงนำส่วนที่เหลือกินเหลือใช้จำหน่ายในชุมชน
(3) เกษตรกรต้องเสริมสร้างสมรรถนะในด้านใดบ้าง? - ในยุคทำมาค้าขาย เกษตรกรต้องใช้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ และการจัดการที่แตกต่างจากยุคหาอยู่หากินและยุคทำอยู่ทำกิน
เกษตรกรควรมีสมรรถนะในการกำหนดเป้าหมายของการผลิต ทั้งปริมาณ คุณภาพ และต้นทุน วิเคราะห์จุดคอขวด หรือจุดที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย แล้วคัดเลือกเฉพาะจุดคอขวด (ไม่ควรเกิน 4) ที่ขจัดได้และเกิดประโยชน์มากเท่านั้น หรือทำน้อยได้มาก เพื่อให้รู้ว่าควรทำอะไรก่อนหลัง (เร็ว ช้า หนัก เบา) ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิผล
จากนั้น สร้างทางเลือก หรือวิธีที่คุ้มค่า ซึ่งทำได้เร็วกว่า ถูกกว่า ดีกว่า สำหรับใช้ขจัดแต่ละจุดคอขวด โดยตั้งคำถามว่า มีวิธีที่บาง เบา หรือสั้นกว่านี้หรือไม่? ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ
ภาครัฐควรเชื่อว่า ไม่มีเกษตรกรรายใดต้องการย้ายถิ่นฐานไปทำมาหากินในพื้นที่ห่างไกลจากชุมชนถิ่นเกิด
ปัญหาคือ
(1) แผนพัฒนาระบบนิเวศต่างๆ ของรัฐไม่เกื้อกูลกัน
(2) ปัญหาที่ดินทำกิน
(3) ความเสื่อมโทรมของดิน น้ำ ป่า และความหลากหลาย
(4) เกษตรกรขาดสมรรถนะในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
และ (5) ระบบตลาดที่ขาดความเป็นธรรม
แนวทางในการเสริมสร้างสมรรถนะของเกษตรกร ควรลดการสอนเพื่อถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี แต่เน้นการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และแสวงหา ความรู้เพื่อแก้ปัญหาด้วยตัวเอง การแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการทดลองในไร่นา และการบูรณาการกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ เข้ากับวิถีชีวิตของเกษตรกร
ระบบเกษตรยั่งยืนไม่มีรูปแบบตายตัว ภาครัฐจึงควรกระตุ้นหนุนเสริมให้เกษตรกรปรับปรุงระบบเกษตรด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง และบูรณาการงานวิจัย งานพัฒนา และงานส่งเสริมการเกษตรเข้าด้วยกัน เริ่มจากการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน และดำเนินการในขั้นตอนต่อไปนี้
(1) จัดทำแผนที่เกษตรกรคนเก่ง
(2) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้เกษตรกรค้นหาศักยภาพของตนเองและชุมชน และสืบค้นภูมิปัญญาท้องถิ่น
(3) กระตุ้นให้เกิดการเลียนแบบเพื่อต่อยอด และหนุนเสริมให้ทำการทดลองในไร่นา
(4) จัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการทดลอง เพื่อถอดรหัสเทคโนโลยีที่เหมาะสม
(5) กระตุ้นให้เกิดจินตนาการสร้างตัวแบบ โดยยึดโยงกับสภาพภูมิสังคมและต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยความรู้จากภายนอก
(6) ใช้ตัวแบบที่ประสบความสำเร็จเป็นแหล่งเรียนรู้
และ (7) สร้างกลุ่มและเครือข่ายเกษตรกร รวมทั้งร่วมมือกับภาคีพันธมิตรที่หลากหลายมากขึ้น
นักวิจัยควรมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน โดยเฉพาะขั้นตอนที่ 3-5 ซึ่งจะช่วยให้ได้โจทย์วิจัยที่เป็นปัญหาที่แท้จริงของเกษตรกร
ดังนั้น วิธีคิดและวิธีทำงานของเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ภาครัฐจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกษตรไทยจะก้าวไปได้ไกลแค่ไหน? อย่างมั่นคงยั่งยืนหรือไม่?
ดร.ประทีป วีรพัฒนนิรันดร์
มูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน
prateep.v@hotmail.com
3 พฤษภาคม 2551
โทร.081-3065373