ในยุคโลกาภิวัฒน์ ปัญหามีความหลากหลาย สลับซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงเร็ว การปฏิรูปการศึกษารอบสองจึงมุ่งให้คนไทยทุกคนได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ครอบคลุมทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบและตามอัธยาศัย หากแต่ชุมชนท้องถิ่นมีสภาพ “ภูมิสังคม” แตกต่างหลากหลาย ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิต วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ อาทิ ชุมชนบนดอย ชุมชนในพื้นที่ราบลุ่ม ชุมชนชายทะเล ชุมชนในพื้นที่ป่าพรุ ฯลฯ
ดังนั้น การวางแผนปฏิรูปการศึกษาจากส่วนกลาง หรือการวางแผนที่ “คนทำไม่ได้คิด คนคิดไม่ได้ทำ” จึงไม่สามารถตอบสนองความต้องการและปฏิรูปการเรียนรู้ของชุมชนท้องถิ่นได้
คำถาม คือ จะทำอย่างไร? ให้คนไทยส่วนใหญ่มีโอกาสเข้าถึงการบริการทางการศึกษาและมีปัจจัยเกื้อหนุนให้สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพพร้อมๆ กันทั้งประเทศ ขณะที่รัฐบาลใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ
กรอบแนวคิด
1. ความสำเร็จของการปฏิรูปศึกษารอบสองวัดที่คนไทยใฝ่ดี ใฝ่รู้ คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้ (“ดี – เก่ง – เท่าทันโลก”) เป็นการพัฒนาอย่างสมดุล ทำให้เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ และนำไปสู่สังคมอุดมปัญญา
2. ชุมชนสัมพันธ์เชื่อมโยงกับภายนอกและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เปรียบเสมือน “ห้องเรียนที่มีชีวิต” ที่คนในชุมชนเป็นผู้เรียน ตั้ง “โจทย์” และหา “คำตอบ” ด้วยตนเอง เรียนรู้เพื่อชีวิต ซึ่งแตกต่างจากการจัดการศึกษาทั่วไปที่ใช้ “วิชา” เป็นตัวตั้ง ครูสอนความรู้ (เก่า) แล้วสอบความจำของผู้เรียนในความรู้ที่ถูกสอน
3. การปฏิรูปการศึกษาที่พึงปรารถนาต้องทำให้ชีวิตดีขึ้น ควรเรียนรู้จาก “ปัญหา” ใกล้ตัว ฝึกประยุกต์ใช้ความรู้ (ภูมิปัญญาท้องถิ่น) ที่มีอยู่ในชุมชน จากนั้นจึงนำความรู้ในตำรา (ความรู้จากภายนอก) มาต่อยอด จากนั้นจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชน และถักทอเป็นเครือข่ายชุมชน โดยเฉพาะชุมชนที่มีสภาพ “ภูมิสังคม” คล้ายคลึงกัน
4. สัดส่วนของคนที่ “ดี – เก่ง – เท่าทันโลก” เป็นตัวบ่งชี้ความเข้มแข็งของชุมชน ถ้าเป็น “ชุมชนแห่งการเรียนรู้” คนในชุมชนส่วนใหญ่จะสามารถกำหนดอนาคตตนเอง พึ่งตนเองได้และพึ่งพาอาศัยกัน อีกทั้งนำการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์มาสู่ชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง
5. การเลี้ยงชีพเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต อาชีพที่ยึดโยงกับ “ภูมิสังคม” ย่อมช่วยอนุรักษ์ภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ การปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อพัฒนา “สัมมาชีพ” ที่ยึดโยงกับ “ภูมิสังคม” ย่อมช่วยเร่งกระบวนการสร้าง “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ทั้งยังขจัดปัญหาการละทิ้งถิ่นฐาน ครอบครัวแตกแยกและความยากจนได้อย่างยั่งยืน
หมายเหตุ สัมมาชีพ หมายถึง อาชีพที่ไม่เบียดเบียนตนเอง ผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีกำไร (“รายเหลือ”)
6. ไม่มีใครรู้ทุกเรื่องและไม่มีใครไม่รู้อะไรเลย ทุกคนจึงเป็น “ครู” ของเราได้ในสิ่งที่เขาทำเก่ง “ครู” และ “แหล่งเรียนรู้” ในชุมชน ในที่นี้เรียกว่า “ครูติดแผ่นดิน” และ “แหล่งเรียนรู้ติดแผ่นดิน” ตามลำดับ จึงเป็น “ปัจจัยความสำเร็จ” ของการส่งเสริมสนับสนุนสัมมาชีพในชุมชน
หมายเหตุ “ครูติดแผ่นดิน” หมายถึง ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการประกอบสัมมาชีพ และมีความพร้อมในการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี ส่วน “แหล่งเรียนรู้ติดแผ่นดิน” หมายถึง พื้นที่/สถานที่ประกอบการของ “ครูติดแผ่นดิน” เช่น “แหล่งเรียนรู้ติดแผ่นดินข้าว” ก็คือ “แปลงนา” ของ “ครูติดแผ่นดินข้าว” นั่นเอง
7. “ครูติดแผ่นดิน” และ “แหล่งเรียนรู้ติดแผ่นดิน” นอกจากทำให้เกิดการปฏิรูปการเรียนรู้ในการเลี้ยงชีพของคนในชุมชนได้สะดวก รวดเร็วและประหยัดแล้ว ยังใช้ในการปฏิรูปการศึกษาทุกระดับ/ทุกประเภทได้ ตัวอย่างเช่น โรงเรียนมีหลักสูตรท้องถิ่นที่เป็นประโยชน์ นักเรียนอาชีวะและนักศึกษาปริญญาตรีได้ “ครู” และ “แหล่งเรียนรู้” นอกสถานศึกษาที่มีคุณภาพ อาจารย์ นักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกได้ “โจทย์วิจัย” ที่มีคุณค่า นำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้ และ กศน.ก็จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ประจำตำบลที่มีคุณภาพได้รวดเร็วขึ้น
8. กระบวนการสร้าง “ชุมชนแห่งการเรียนรู้” ที่ทำให้ทุกคนมีเป้าหมายสุดท้ายร่วมกันอย่างชัดเจน ช่วยปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ระบบการเรียนรู้และระบบบริหารจัดการของผู้ที่เกี่ยวข้องผ่านการประสานพลังใจและสติปัญญา ก่อให้เกิดวัฒนธรรมการทำงานแบบมีส่วนร่วม และการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์มาสู่ชุมชนในทุกมิติของการพัฒนา
แนวทางการดำเนินงาน
1. กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งทีมงานไอซีที เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลและเว็บไซต์
2. โรงเรียนมอบหมายให้นักเรียนสำรวจ “อาชีพหลัก” (1 “อาชีพหลัก”/หมู่บ้าน) และ “อาชีพในฝัน” (1 “อาชีพในฝัน”/หมู่บ้าน) ที่ยึดโยงกับภูมิสังคมของชุมชนตนเอง รวมทั้งสืบค้น “ครูติดแผ่นดิน” (3 คน/อาชีพ) และ “แหล่งเรียนรู้ติดแผ่นดิน” จากนั้นคีย์ข้อมูลให้ทีมไอซีที (1 โรงเรียนมีพื้นที่รับผิดชอบประมาณ 2/ หมู่บ้าน) โดยให้เป็นกิจกรรมการเรียนเพื่อรู้จักชุมชนของตนเอง
จากนั้นโรงเรียนจัดหลักสูตรท้องถิ่นให้เชื่อมโยงกับ “อาชีพหลัก” และ “อาชีพในฝัน” ของชุมชน ทำให้การเรียนรู้น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน ทั้งยังช่วยให้นักเรียนรู้จักชุมชนของตนเองดียิ่งขึ้น
หมายเหตุ “อาชีพหลัก” หมายถึง อาชีพของคนส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน ส่วน “อาชีพในฝัน” หมายถึง สัมมาชีพที่พัฒนาจากฐานภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น จึงพึ่งพาภายนอกน้อยลง โดยเฉพาะการตลาด เทคโนโลยีและปัจจัยการผลิต
3. กศน.ใช้ข้อมูลจากข้อ 2 ในการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ประจำตำบล และประสานภาคีความร่วมมือ อาทิ อปท. องค์กรชุมชน หน่วยงานราชการ บริษัท องค์กรพัฒนาเอกชน ฯลฯ จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการ “ซ่อมอาชีพหลัก และสร้างอาชีพในฝัน”
4. วิทยาลัย (อาชีวศึกษา) จัดหลักสูตร กิจกรรมการเรียนรู้ พัฒนาเทคโนโลยี สร้างนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ ตลอดจนให้บริการวิชาชีพ เพื่อ “ซ่อมอาชีพหลัก สร้างอาชีพในฝัน” ซึ่งจะเอื้อให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากการปฏิบัติในสถานการณ์จริง
5. มหาวิทยาลัยสร้างโอกาสให้นักศึกษาปริญญาตรีได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ “ครูติดแผ่นดิน” เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจอยากช่วยเหลือสังคม (จิตสาธารณะ) และส่งเสริมสนับสนุนให้อาจารย์ นักศึกษาปริญญาโทและเอก วิจัยเพื่อ “ซ่อมอาชีพหลัก สร้างอาชีพในฝัน” ทำให้ไม่มี “การวิจัยขึ้นหิ้ง” และผู้วิจัยรู้สึกภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าของตนเอง
6. ทีมงานไอซีทีพัฒนาช่องทางแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร ความรู้ เทคโนโลยีและตัวอย่างความสำเร็จของ “ชุมชนแห่งการเรียนรู้” ผ่านสื่อที่หลากหลาย อาทิ โทรทัศน์ วิทยุ เว็บไซต์ ขณะที่ อปท. ใช้ช่องทางวิทยุชุมชนและหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน เพื่อให้เกิดการขยายผลอย่างรวดเร็วในวงกว้าง
7. กองทุน อาทิ สกว. สสค. ฯลฯ ส่งเสริมสนับสนุนงานวิจัยเพื่อ “ซ่อมอาชีพหลัก สร้างอาชีพในฝัน” รวมทั้งสร้างโอกาสและปัจจัยเกื้อหนุนให้ “คนจน” ได้เรียนรู้จาก “ครูติดแผ่นดิน” เพื่อให้เกิด “แรงบันดาลใจ” และ “เคลื่อนใจ เคลื่อนความคิด” ให้เห็นคุณค่าในตนเอง และมุ่งมั่นพัฒนาให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบสัมมาชีพที่ตนเองสนใจ
กระบวนการสร้าง “ชุมชนแห่งการเรียนรู้” ที่เริ่มจากกิจกรรม “ซ่อมอาชีพหลัก สร้างอาชีพในฝัน” ของชุมชนเป็นกลยุทธ์สร้างการมีส่วนร่วม เพราะคนในชุมชนเห็นประโยชน์ชัดเจน อีกทั้งยังเป็นการเปิดพื้นที่ทางสังคมให้เอื้อต่อการปฏิรูปการศึกษาในทุกระดับ/ประเภท โดยคนในชุมชนเป็นกลไกหลัก ส่วนภาคีความร่วมมือให้คำปรึกษาแนะนำ กระตุ้นและหนุนเสริม
เมื่อคนในชุมชนและภาคีที่เกี่ยวข้องมีโอกาสพบปะ พูดคุย ปรึกษาหารือและทำงานร่วมกัน ทุกคนจะปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และปฏิรูประบบการเรียนรู้ของตนเองอย่างเป็นธรรมชาติอัตโนมัติ เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์จากภายใน (“ระเบิดจากข้างใน”) จึงมีพลังและยั่งยืน เมื่อชุมชนท้องถิ่นพึ่งตนเองได้ สังคมไทยย่อมอยู่เย็นเป็นสุขในท้ายที่สุด
ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์
มูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน
prateep.v@hotmail.com
081-3065373
18 สิงหาคม 2553