ประเทศไทยมีทรัพยากรมากมาย เกินพอที่จะสร้างสุขภาวะให้แก่คนไทยทุกคนได้หลายรอบ แต่ที่ทุกข์เข็ญกันไปทุกหย่อมหญ้าก็เพราะมิจฉาทิฐิของการพัฒนา คือเราพยายามพัฒนาข้างบน โดยให้ข้างบนบ่อนทำลายฐานล่างของสังคม ไม่มีพระเจดีย์องค์ใดสร้างได้สำเร็จจากยอด พระเจดีย์ต้องสร้างจากฐาน
ฐานของสังคมคือ ชุมชนท้องถิ่น กระบวนทัศน์ใหม่ของการพัฒนาประเทศไทยคือ การพัฒนาที่เอาท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง (ดูรายละเอียดในหนังสือชื่อ "กระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนาประเทศไทย : ท้องถิ่นเข้มแข็ง" โดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ)
ส่วนหนึ่งของท้องถิ่นเข้มแข็งคือ ระบบการเรียนรู้ของท้องถิ่น ส่วนหนึ่งของระบบการเรียนรู้ท้องถิ่นคือ ศูนย์การเรียนรู้ท้องถิ่น ในแต่ละตำบลควรมีศูนย์การเรียนรู้อันประกอบด้วยกลุ่ม (คลัสเตอร์) ของแหล่งเรียนรู้ 5 ประเภทคือ
(1) ห้องสมุดตำบล ติดตั้งอินเตอร์เน็ต
(2) พิพิธภัณฑ์ตำบล
(3) ศูนย์ศิลปะ
(4) ศูนย์กีฬา
(5) ศูนย์เรียนรู้พิเศษ
รอบๆ กลุ่มศูนย์เรียนรู้เหล่านี้มีตลาดชุมชน และมีศูนย์การแพทย์แผนไทยชุมชนโดยชาวบ้านทำเอง
ศูนย์การเรียนรู้เหล่านี้ ชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้ทำเองให้สอดคล้องกับภูมิประเทศ สังคมเศรษฐกิจของตนเอง
ศูนย์การเรียนรู้ตำบลนี้จะคึกคักมีชีวิตชีวาด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์อันหลากหลายตลอดชุมชนจะเป็นประโยชน์ทั้งกับผู้ผลิตและผู้ซื้อที่มามีปฏิสัมพันธ์กันโดยตรง
ตลาดชุมชนนี้เกือบไม่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าเลย ต่างจากศูนย์การค้าใหญ่ๆ ถ้ามีตลาดชุมชนทุกตำบลนอกจากเป็นการกระจายรายได้แล้ว ยังประหยัดพลังงานอย่างมโหฬาร ธุรกิจชุมชนควรจัดการท่องเที่ยวชุมชนด้วย
ซึ่งอาจรวมทั้งการมีโฮมสเตย์
ทุกตำบลมีประวัติศาสตร์ของตัว คนในตำบลควรวิจัยประวัติศาสตร์ตำบลของตนเองและเอาความรู้และวัสดุมาจัดทำพิพิธภัณฑ์ตำบล ประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ตำบล จะทำให้คนในตำบลภูมิใจในรากเหง้าของตัว
ทุกชุมชนท้องถิ่นต้องมีเกียรติและศักดิ์ศรีของตนเอง ประเทศจึงจะแข็งแรง
การรวมศูนย์อำนาจเงินและเกียรติเข้าไว้ที่ส่วนกลาง ทำให้ประเทศอ่อนแอและแตกแยก คนเราจะอยู่โดยไม่มีเกียรติไม่มีศักดิ์ศรีได้อย่างไร
ถ้าเอาวัฒนธรรมเป็นตัวตั้งทุกชุมชนท้องถิ่นจะมีเกียรติมีศักดิ์ศรีเสมอกัน เพราะวัฒนธรรมมีความหลากหลายไม่มีใครเหนือใคร ถ้าเอาอำนาจและเงินเป็นตัวตั้งมันจะรวมศูนย์ทำให้ชุมชนท้องถิ่นหมดศักดิ์ศรีลง และตกเป็นบริวารของกรุงเทพฯ กรุงเทพฯเป็นบริวารของลอนดอน นิวยอร์ก โตเกียว ทั้งคนและประเทศไม่ควรจะสัมพันธ์กันด้วยใครเป็นบริวารของใคร แต่ควรจะมีเกียรติและศักดิ์ศรีเสมอกัน
การพัฒนาที่เอาวัฒนธรรมเป็นตัวตั้ง เป็นการกระจายความเสมอภาคทางเกียรติและศักดิ์ศรี การมีการวิจัยประวัติศาสตร์ตำบลโดยคนในตำบลและการทำพิพิธภัณฑ์ตำบลโดยคนในตำบล จึงมีความหมายยิ่งนักต่อการมีเกียรติและศักดิ์ศรีของทุกชุมชนท้องถิ่น ทำให้ฐานพระเจดีย์ของประเทศแข็งแรง เมื่อฐานของประเทศแข็งแรงก็จะรองรับประเทศทั้งหมดให้มั่นคง
ข้อสำคัญรัฐอย่าไปทำแทน ขอเพียงให้เข้าใจและส่งเสริมสนับสนุน
ถ้าเรามีสัมมาทิฐิเกี่ยวกับการพัฒนา ประเทศไทยมีทรัพยากรเหลือเฟือ ที่จะสร้างสุขภาวะแก่คนไทยทั้งมวล
ประเวศ วะสี
ข้อมูล : หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 21 มีนาคม 2552