การศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพของ "คน" ตั้งแต่เกิดจนตาย เนื่องจากมนุษย์ต้องเรียนรู้ ฝึกฝน และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต แต่ปรากฏว่า การปฏิรูปการศึกษาในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2542-2551) ยังไม่บรรลุเป้าหมาย
การแก้ปัญหานั้นไม่ยาก ถ้ารู้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน? เพราะทุกปัญหามีทางออก และมักมีหลายทางออกด้วย แต่ต้องเลือกทางออกที่ "คุ้มค่า" ที่สุด วัดกันที่ผลลัพธ์ "เร็วกว่า ดีกว่า ถูกกว่า" ไม่ยึดติดความรู้สึก ความเคยชิน แม้แต่ตำรา หรือวิธีการที่ได้ผลในอดีต เพราะเหตุปัจจัยต่างๆ อาจเปลี่ยนแปลงไปแล้ว
คำถาม คือ วัตถุประสงค์ แนวนโยบาย เป้าหมาย และกรอบการดำเนินงานของแผนการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ.2545-2559) ผิดพลาดตรงไหน? เพราะคิดแบบแยกส่วน? ขาดการบูรณาการในขั้นตอนปฏิบัติ? ขาดการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง? และ/หรือขาดพลังในการขับเคลื่อน? การจัดการศึกษาที่ดีต้องคำนึงถึงการเข้าถึงบริการทางการศึกษา และตอบสนองคนไทยทุกคน ทั้งคนเมือง คนชนบท คนวัยทำงาน ผู้สูงอายุ เด็กกลุ่มพิเศษ ฯลฯ ซึ่งดำรงชีวิตอยู่ในภูมิสังคมที่หลากหลาย และมีความต้องการที่แตกต่างกัน
การจัดการศึกษาจึงมีความสลับซับซ้อน และเกี่ยวเนื่องกับองค์กรและหน่วยงานทุกประเภท รวมทั้งประชาชนทุกระดับ ตั้งแต่ปัจเจกบุคคล ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) องค์กรทางศาสนา สถานประกอบการ องค์กรวิชาชีพ สมาคมศิษย์เก่า พ่อแม่ ผู้ปกครอง เป็นต้น กระทรวงศึกษาธิการเป็นเพียงส่วนหนึ่งของประชาคมการศึกษาเท่านั้น
ถ้าการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่ 2 มีระยะเวลา 5 ปี และภาพในอนาคตอยู่ที่ "คนไทยทุกคน" เป็นพลเมืองที่เก่ง ดี และมีความสุข ร่วมกันสร้างสรรค์ให้สังคมไทยอยู่เย็นเป็นสุขและประเทศชาติเจริญมั่นคงในกระแสโลกาภิวัตน์ได้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
จากหลักคิด "หนึ่งเป้าหมาย ไปได้หลายเส้นทาง" และ "ความสำเร็จมิได้เกิดจากองค์ประกอบเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็นการทำให้องค์ประกอบเหล่านั้นทั้งหมดทำงานร่วมกันอย่างลงตัวพอดี" การปฏิรูปการศึกษารอบ 2 นี้จะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อเลือก "เส้นทาง" ได้ถูกต้อง (คุ้มค่า) แก้ปัญหาถูกที่ ถูกวิธี ถูกเวลา โดยความร่วมมือร่วมใจของคนไทยทุกคน คำถามก็คือจะทำอย่างไรดี?
เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์นี้ สภาการศึกษาได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อรับฟังความคิดเห็นและสรุปแนวทางการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่ 2 เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยให้ ศ.ดร.ยงยุทธ์ ยุทธวงศ์ เป็นประธาน และมอบให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ทำการจัดเวทีระดมความคิดเห็นในภูมิภาคต่างๆ เพื่อกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์ ใน 9 ประเด็น คือ
1. การพัฒนาคุณภาพการศึกษา/ผู้เรียน
2. การผลิตและพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา
3. การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารและการจัดการศึกษาและการมีส่วนร่วม
4. การเพิ่มโอกาสทางการศึกษา
5. การผลิตและพัฒนากำลังคน
6. การเงินเพื่อการศึกษา
7. เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา
8. กฎหมายการศึกษา
9. การศึกษาตลอดชีวิต การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย
แนวความคิดการจัดเวทีฯดังกล่าวข้างต้น เริ่มจาก "ประเด็นปัญหา" แล้วจึงกำหนด "เป้าหมาย" และ "ยุทธศาสตร์" เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ เป็นการคิดแบบแยกส่วน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะระดับปฏิบัติการจะได้รับประโยชน์ไม่มากนักในการนำไปใช้จัดทำแผนปฏิบัติการของสถานศึกษา จังหวัด หรือเขตพื้นที่การศึกษา
"ทางเลือก" คือ ควรเริ่มที่ "กลุ่มผู้เรียน/กลุ่มคน"
โดยต้องครอบคลุมทุกกลุ่มคน อาทิ กลุ่มปฐมวัย กลุ่ม ป.1-6 กลุ่ม ม.1-3 กลุ่ม ม.4-6 กลุ่มอาชีวศึกษา กลุ่มอุดมศึกษา กลุ่มเด็กพิเศษ กลุ่มคนพิการ กลุ่มการศึกษานอกระบบ กลุ่มการศึกษาตามอัธยาศัย ฯลฯ แล้วดำเนินการดังนี้
(1) จัดทำ "แผนที่นำทาง" ระดับประเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพแต่ละกลุ่มคน
(2) กำหนด "เป้าหมาย" ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว (คุณลักษณะเก่ง ดี มีความสุข หมายถึง อะไร? ตัวชี้วัดความสำเร็จ คือ อะไร?)
(3) กำหนด "ประเด็นปัญหา" หรือ "จุดคอขวด" ให้คัดเลือกเฉพาะจุดคอขวดที่จัดการได้เท่านั้น และใช้หลักคิด "เร็ว ช้า หนัก เบา" กำหนดจุดคอขวดในแต่ละช่วงเวลา เช่น ระยะเร่งด่วน (ในปีแรก ไม่ควรเกิน 4 จุดคอขวด) ระยะกลาง (ปีที่ 2-3) และระยะยาว (ปีที่ 4-5)
(4) กำหนด "ยุทธศาสตร์" เพื่อใช้ขจัดจุดคอขวดเหล่านั้น
(5) คัดเลือก "จุดคอขวด" ที่รู้สาเหตุ แต่ยังไม่รู้วิธีแก้ไข หรือจุดคอขวดที่ไม่รู้สาเหตุ ไปตั้งเป็นโจทย์วิจัยตามความจำเป็น
"ทางเลือก" นี้จะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมได้ทั่วถึงทุกภาคส่วนมากกว่า เวทีฯ จะมีขนาดเล็กลง ประเด็นระดมความคิดชัดเจน เพราะผู้เข้าร่วมเวทีฯมีความสนใจกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน
นอกจากนี้ สกศ.ควรจุดประกายและกระตุ้นให้ทุกคนตระหนักถึงคุณค่าของการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่ 2 ของแต่ละกลุ่มคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์กรชุมชน อปท. องค์กรวิชาชีพ และสถานประกอบการ
ดร.ประทีป วีรพัฒนนิรันดร์
มูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน
prateep.v@hotmail.com
16 กุมภาพันธ์ 2552