“เศรษฐกิจพอเพียงในระดับประเทศ สิ่งที่เราจะดูคือการทำอะไรที่เราพึ่งตนเองได้มากที่สุด และมีความรู้พอเพียงกับสิ่งนั้น มีการผลิตได้เอง ถ้าจะส่งออกต้องมีตลาดที่พอเพียงคือตลาดของเราเองด้วยมีตราของเราเอง เพราะคำตอบในอันดับแรกต้องต่อเชื่อมกับการเกษตร ผมอยากให้ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจตระหนักตรงนี้”
ผมคิดว่าเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับประเทศไทย เป็นเรื่องของความก้าวหน้าเพราะว่าประเทศที่ก้าวหน้าได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน เจริญเติบโตได้ดีที่สุดในโลก มากจากเศรษฐกิจพอเพียงทั้งนั้น ตัวอย่างเช่น สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ และฮอลแลนด์ เติบโตจากการพึ่งตนเองทีละขั้นทีละตอน
คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงผมเข้าใจว่าเป็นลักษณะแนวคิด ไม่ได้เป็นรูป เป็นสิ่งของ หรือเป็นธุรกิจ เป็นแนวคิดว่าเราจะเติบโตอะไรได้เราต้องมีหลายๆ สิ่งพอเพียงอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และเป็นเศรษฐกิจอีกแบบหนึ่งที่ไม่ใช่เลียนแบบค้าขาย แล้วก็ทำตามเขา หรือไม่ก็กลายเป็นเครื่องมือเขาจนกลายเป็นหนี้เป็นสินเพราะเราไม่ได้เป็นเศรษฐกิจพอเพียง ในความรู้สึกผม เศรษฐกิจพอเพียงคือพื้นฐานของการพึ่งตัวเอง
คำถามว่าแล้วเหมาะกับประเทศไทยหรือไม่ ถ้าเราเพียงหลับตานึกภาพว่า ทั้งโลกถูกบังคับด้วยการพึ่งตัวเองทุกประเทศต้องพึ่งตัวเองเป็น ประเทศแรกที่พึ่งตัวเองได้คือประเทศไทย แต่ถ้าทั้งโลกถูกบังคับให้เปิดประเทศกันหมด รบราในทางเศรษฐกิจ เอารัดเอาเปรียบ ประเทศแรกที่เจ๊งคือประเทศไทย ความหมายก็คือว่า เราได้เคลื่อนอะไรบางอย่างและไปสู่อะไรบางอย่าง เพราะว่าจริงๆ แล้วพึ่งตัวเองได้ พออยู่พอกิน เราพึ่งได้แน่นอนเพราะว่าเราพอกิน อยู่กันพอดี อย่าฟุ่มเฟือย ไปกู้หนี้ยืมสินเกินตัวรับกันไม่ไหว
ต้องพึ่งตนเองมากที่สุด
ไม่มีใครแก้ปัญหาหนี้สินด้วยการเป็นหนี้มากขึ้น ไม่มีใครสามารถแก้ปัญหาในชีวิตด้วยการขายฉะนั้นเมื่อก่อนนี้เราเคยทำอย่างไรแล้วมาเปลี่ยน ก็ต้องมองดูว่าอะไรบ้างที่เราแข็งแรงก็เริ่มจากตรงนั้นแล้วค่อยกระเถิบขึ้นไป อันนี้ก็เป็นความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง
แต่ถ้าเศรษฐกิจพอเพียงในระดับประเทศไทย สิ่งที่เราจะต้องดูคือ ต้องทำอะไรที่เราพึ่งตัวเองได้มากที่สุด และมีความรู้พอเพียงกับสิ่งนั้น มีการผลิตได้เอง ถ้าจะส่งออกต้องมีตลาดที่พอเพียงคือตลาดของเราเองด้วย มีตราของเราเอง เพราะคำตอบ ในอันดับแรกต้องต่อเชื่อมกับการเกษตร
ผมอยากเห็นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจตระหนักตรงนี้มองไป 30 ปีข้างหน้า คนในโลกจะเพิ่มเกือบ 60% ประชากรเพิ่มปีละ 1.8% ใน 30 ปีข้างหน้า คนในโลกจะเพิ่มอีก 60% คำถามพื้นฐานจะเอาที่ไหนกิน ใครจะปลูกข้าวเพิ่มขึ้นอีก 60% ใครจะทำอาหาร เพิ่มขึ้นได้อีก 60% ที่ดินมีแค่นี้ น้ำมีแค่นี้ สิ่งแวดล้อมหมด
ผมว่าปัญหาพวกนี้เป็นข้อจำกัดทั้งนั้น เพราะมีปัญหาแล้วในเรื่องการผลิต ฉะนั้นไทยจะมีศักยภาพมากเพราะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในเรื่องการเกษตรและการแปรรูป ทั้งนี้ประเทศที่เจริญอย่างยั่งยืนมั่นคง เห็นชัดเลย เรายังกินนมจากเดนมาร์ก ยุโรปหรือสวิส ซึ่งประเทศที่รวยที่สุดในโลกก็โตด้วยเกษตร และก็ยังทำการเกษตรจนถึงวันนี้
ฉะนั้นจะต้องมอง อยู่ที่ว่าเรามีความดีพอเพียงไหม กฎหมายเราพอเพียงกับเรื่องพวกนี้ไหม คนที่กลับไปสู่การเกษตรจะถูกเอารัดเอาเปรียบไหม ถ้าเราจะโตอีกผลิตได้ดีกว่านี้ต้องมีความดีพอเพียง มีกฎหมายที่ดีพอเพียง ที่ของคนยากคนจนและเกษตรกรจะไม่เอารัดเอาเปรียบถูกคนมีเงินเอาไปเก็งกำไร กักตุน ปั่นราคา ที่ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดเอาไปใช้เก็งกำไร เอาไปสร้างตึก ทรัพยากรสาธารณะเราต้องมีความดีในพื้นที่การเติบโต ถ้าเรามีความดีไม่พอเพียง ต้นทุนของสิ่งเหล่านี้กลับกลายเป็นการแพงด้วยการเก็งกำไร ต้องเห็นศักยภาพอันนี้วัตถุดิบในประเทศต้องมาก่อน อะไรที่มีวัตถุดิบในประเทศต้องส่งเสริม
ดังนั้นมีปัญหาเฉพาะหน้าของเราตอนนี้ ต้องเลิกใช้ทุนต่างประเทศ นอกเสียจากสิ่งจำเป็นที่เราจะต้องใช้ แน่นอนบางอย่างที่เป็นพลังงาน ไฟฟ้า เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในการผลิตสำหรับการส่งออกต้องกลับไปสู่อะไรที่เรามีทุนของเราเอง เงินออมของเรา เราส่งเสริมทุกอย่างแบบเดิมไม่ได้ ทำในสิ่งที่เรามีทุนพอเพียงและทำในสิ่งที่จำเป็นจริงๆ อย่าตาโต ดูโครงการที่เหมาะสมกับอัตภาพ รอบคอบ อะไรไม่ควรทำ อย่าทำ ควรจะทำอะไรที่เรามีวัตถุดิบ การกู้ก็คงจะกู้มาเพื่อทำอะไรได้ ไม่ใช่กู้มาสร้างตึก 300 – 400 ตึก แล้วว่างเปล่า
เมืองไทยมีหัวใจอยู่ 2 สิ่งคือ จะต้องมีการแบ่งปันกันพอเพียง และมีการตลาดพอเพียงไม่ว่าทำระดับไหน ระดับประเทศการแบ่งปันกันพอเพียงสัมพันธ์กับเรื่องของกฎหมาย เพราะที่แล้วมากฎหมายเราโดยเฉพาะภาษี คนที่ค้าขายสุจริต บุคคลธรรมดาเงินเดือนเพิ่มเสียภาษีแบบก้าวหน้าอีก ส่วนพวกเก็งกำไร ค้าเงิน ปั่นราคา เราไม่มีกฎหมายภาษีเก็งกำไร ไม่สามารถจะเก็บภาษีจากพวกคอรัปชั่นได้
ฉะนั้นกฎหมายภาษีที่ดิน ภาษีทรัพย์สินจะต้องมุ่งเพื่อป้องกันไม่ให้พวกโกงและเก็งกำไร เอารัดเอาเปรียบ ไม่ควรมุ่งเรื่องการเอาเงิน เพราะว่าประเทศเราล่มจ่มเพราะต่างชาติเข้ามาขโมยเอาไป
นี่คือความดีที่พอเพียง ในเศรษฐกิจพอเพียงต้องมีสิ่งนี้ ไม่ใช่เราโตไปโดยไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ถูกขโมยไปหมดแล้วก็หวังว่าคนที่ขโมยไปเมื่อวานจะมาช่วยเราวันนี้ นั่งหวังลมๆ แล้งๆ เพราะเราคิดแต่จะพึ่งคนอื่น ผมว่าต่างชาติเขาไม่ได้เกิดมาเพื่อให้เราพึ่ง เขาต้องหาผลประโยชน์ของเขา เราเองต้องกลับมาคิดให้ดีว่าจะพึ่งตัวเองอย่างไร เราก็ตกเป็นเครื่องมือ ถูกขโมยถูกเอารัดเอาเปรียบ ฉะนั้นกฎหมายจะต้องดีและการแบ่งปันที่พอเพียง กฎหมายภาษีจะต้องคิดถึงการสร้างพฤติกรรมที่ดีของสังคม ไม่ใช่เพื่อหาเงินควรเป็นภาษีที่สร้างประเทศ สร้างวัฒนธรรมใหม่ ทำให้คนดีมีกำลังใจ คนสุจริตเติบโตได้
ย้อนมาที่การแบ่งปันอย่างพอเพียง ในระดับประเทศมาจากระบบภาษี แต่การมีตลาดพอเพียง เราจะต้องมีตราของเรา ที่ผ่านมาเราไม่มีตลาดที่แท้จริง คุณอมเรศ (ศิลาอ่อน) พูดถึงประเด็นนี้มาก จริงๆ แล้วเราไม่มีบริษัทที่ทำตลาด เราไม่มีความรู้ คนเวียดนามรู้ภาษาไทย ไม่เห็นมีคนไทยรู้ภาษาเวียดนาม แล้วเราจะทำตลาดได้อย่างไร คนจีนรู้ภาษาไทย แต่คนไทยไม่รู้ภาษาจีน เขาจะทำตลาดที่ไหนจะเรียนรู้ภาษานั้นมีตราของตัวเองของเราสนใจแต่สิ่งของที่ท่าเรือ มันก็โดนเขาหลอกให้เราผลิตแล้วก็กดราคาไปก็ไม่ได้ ส่งก็ไม่ได้ฉะนั้นถ้าข้าวไทยส่งไปขายก็ตีตราไปเลยว่าเป็นข้าวไทย ตอนนี้ข้าวไทยจริงแต่ยี่ห้อคนอื่น การแบ่งปันในประเทศพอเพียงเข้ามาถึงการทำจากตัวเอง วัสดุพอเพียงความดีพอเพียง ความรู้พอเพียง กฎหมายพอเพียง
เรื่องนี้เราต้องพูดกัน 2 ระดับ คือองค์กรชุมชนต้องมีการจัดการเพราะประเทศถูกแบ่งมากในเรื่องของรายได้ การจัดการองค์กรชุมชนจะเป็นตัวไปช่วยครอบครัว และการจะทำให้เขาสามารถเติบโตได้ก็ต้องมีตลาด โดยมีองค์กรธุรกิจเข้าไปทำให้มีภูมิคุ้มกันให้ทำตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อไปกระตุ้นเรื่องค่านิยมการบริโภคต่างๆ ให้เปลี่ยนค่านิยมมาบริโภคสินค้าในประเทศจากชุมชน
ส่วนในเมือง องค์กรธุรกิจที่จะทำแบบชุมชนต้องมองไปข้างหน้า แล้วข้างหน้าเศรษฐกิจที่อยู่บนพื้นฐานตัวเองโดยเฉพาะการเกษตรเป็นศักยภาพ ฉะนั้นองค์กรธุรกิจต้องมองตรงนี้ว่าคิดจะโตแบบเดิม เป็นหนี้เป็นสิน 5 ชั่วคน ใช้หนี้กันหมดหรือไม่เพราะจ่ายดอกเบี้ยอย่างเดียวก็ไม่พอแล้ว ยังจะไปทางนี้อีกหรือก็ยิ่งดิ่งลงเหวไปเรื่อย
ฉะนั้นเราจะต้องหาทางเลือกใหม่ คือจะต้องต่อเชื่อมกับเกษตร แปรรูปต้องเชื่อมที่ไหน ก็ต้องเชื่อมกับองค์กรชุมชน เป็นทางออกทางเดียวที่ต้องปรับตัว แต่ต้องแบ่งปันกันพอเพียงนะ ถ้าทางออกคือวิธีการเอาเปรียบกันใหม่อีก ประเทศก็ลำบาก
ในส่วนที่กระทรวงมหาดไทยกำลังทำอยู่ ผมคิดว่าเราต้องทำงานหลายอย่าง แต่เราทุกคนต้องมาทำความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอยากจะให้ช่วยเงี่ยหูฟังในหลวงท่านหน่อย ไม่มีใครที่มีปัญญาเท่าท่านฟังท่าน เราจะพบว่าถ้าเราไม่มีท่านเราคงสิ้นลมหายใจไปหลายครั้งแล้ว ครั้งนี้ท่านก็จะต่อลมหายใจ แต่ขอให้เงี่ยหูฟังท่าน ค่อยๆ คิด เพราะมีความก้าวหน้าและมีความทันสมัย
ผมว่าอันนี้สำคัญ การพึ่งตัวเองจากรากฐาน ถ้าเราอยู่ในทะเลทรายเราคงบอกว่าการพึ่งตัวเอง ไม่ใช่เกษตร แต่เราอยู่ในดินแดนเกษตรแต่กลับไปพึ่งตัวเองเหมือนกับอยู่กลางทะเลทรายเป็นไปไม่ได้ พึ่งอุตสาหกรรมกับน้ำมัน เป็นสิ่งที่เราไม่มี ผมคิดว่ากลับมาคิดว่าเรามีอะไรแล้วพึ่งสิ่งนั้น เรามีน้ำ เรามีดินแสงแดด ถ้าสร้างกันจริงๆ สร้างเงินได้ นั่นคือทรัพยากร เราต้องกลับมาพึ่งจุดนี้แล้วก็ทำให้ทันสมัย
ส่วนปัญหาเฉพาะหน้าของคนที่ไม่มีที่ดินไม่มีบ้าน จะมีทางออกจากเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างไร ผมคิดว่าเราคงทำทุกอย่างอะไรที่เราพึ่งได้ ในเมืองเราพึ่งอะไรบ้าง จะเป็นเรื่องของการแปรรูป เมืองเป็นภาคที่ไม่มีการผลิต เป็นภาคเติบโตด้วยการอำนวยความสะดวก ที่ผ่านมาเติบโตด้วยการฉวยโอกาสเอาเปรียบ ต้องกลับมาในระดับอำนวยความสะดวก มีหลายชาติที่เขากู้ประเทศได้ ไม่ว่าญี่ปุ่นหรือเยอรมัน เขาใช้อะไร เขาใช้พลังของการที่จะช่วยเหลือคนในชาติ ช่วยเหลือเด็ก สร้างประเทศขึ้นมาไม่ใช่โลภ ผมเรียนว่าโลภ ไม่ใช่อันเดียวที่จะทำให้คนทำอะไรได้คนตายเพื่อลูกได้ นั่นคือความดี
เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องผลักดันให้คนในชาติรู้สึกว่า เราต้องทุ่มเทเพื่ออะไร มหาตมะคานธี ผู้นำของประเทศอินเดียไม่ได้ใช้ความโลภกู้อินเดีย แต่ท่านใช้ความเสียสละฉะนั้น ถ้าเราผลักดันแต่ว่าทั้งประเทศต้องทำกิจการโลภอย่างเดียว ประเทศมีปัญหาแน่นอน ก็ต้องพยายามเข้าใจว่าเราต้องสร้างคนไม่ใช่สร้างของ แล้วก็ต้องสร้างความดี เหมือนกับสร้างสังคมก่อนแล้วสร้างเศรษฐกิจก็ตามหลังสังคมที่ดี กระบวนการทางเศรษฐกิจสำคัญเป็นกระบวนการที่ยั่งยืน
คณะกรรมการนโยบายสังคมแห่งชาติได้มีมติส่งเสริมให้องค์กรธุรกิจเข้าไปร่วมทำงานกับองค์กรชุมชน เพื่อเป็นภูมิคุ้มกัน ผมว่ากระทรวงมหาดไทยพยายามที่จะส่งเสริม ไม่ใช่ว่ากระทรวงต้องไปทำเอง แค่ขจัดอุปสรรค เป็นตัวกระตุ้น อำนวยความสะดวก การพัฒนาจริงๆ ต้องมาจากคนในชาติคิดขึ้นเอง สิ่งที่ทำจะเหมาะสมกับสิ่งที่เขาคิด ถ้าไปทำสิ่งที่ตัวเองไม่ได้คิด ก็กลายเป็นทาส เป็นวัตถุดิบ
ส่วนภาคการเงินจะต้องรู้ว่าเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวก ไม่ใช่ตัวเศรษฐกิจ ถ้าทำให้เศรษฐกิจ แท้จริงไปค้ำการเงินก็ไปกันใหญ่ เพราะว่าทำเรื่องของการค้าการเงินนายหน้า เพราะขณะนี้ระมัดระวัง เรื่องการเก็งกำไร ต่างชาติและพวกที่ขโมยเงินเรายังไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก ถ้าเราเน้นแต่การค้าเงิน เศรษฐกิจ จะไม่เป็นเศรษฐกิจจริง เราไปเติมให้อยู่เท่าไหร่ก็ยิ่งฉวยเอาไป
ดังนั้นเงินไม่ควรจะไปก่อน แต่ต้องมีตลาดก่อน โดยพึ่งตัวเองได้ก่อน เขายังพึ่งตัวเองไม่ได้ ยืมไปก็ล้มละลาย เมื่อก่อนเราไม่มีตลาด เราผลิตก่อนแล้วก็ล้ม เราซื้อของก่อนแล้วก็ล้ม ที่เหลือก็คือหนี้ เป็นทาสไปอีกหลายร้อยปี ชาตินี้ต้องนั่งทำลายเพื่อให้เงินแก่เขา แล้วอะไรอีก ถ้าเขาขายเอาดอลล่าร์กลับอีกครั้ง เราล้มอีก เราจะหลุดจากวงจรนี้ได้อย่างไร
ผมคิดว่ายังไงก็ต้องกลับมาที่เศรษฐกิจพอเพียง แต่ตอนนี้เราทำไม่ให้เขาโกรธ ให้เขาเอาเงินไป ก็คงจะต้องอยู่ระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องมาสร้างเศรษฐกิจจริงซึ่งต้องเป็นเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าเศรษฐกิจจริง เป็นเศรษฐกิจที่เป็นหนี้อีก มันก็ไปไม่ได้อยู่ดี ซ้ำรอยเดิม ไม่อยากจะถามว่าทำไมอันโน้นทำ อันนี้ไม่ทำ ใครทำได้ก็ทำเพราะว่าขืนถามอย่างนี้จะตอบใคร่ละ ต้องมองเป็นระบบผมอยากเห็นชุมชนบริโภค องค์กรชุมชนในชนบทจะมีมากแต่ความแข็งแรงทางเศรษฐกิจเขามีไม่มาก เขามีระดับพึ่งตัวเอง แต่จะมีระดับขยายเขาต้องมีตลาด
โสภณ สุภาพงษ์
กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบางจากปิโตรเลียมจำกัด (มหาชน)
***จากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับครบรอบ 2 ปี วันที่ 21 ตุลาคม 2541