ธุรกิจเป็นเครื่องมือที่จะทำให้ระบบทุนหมุนเวียนได้โดยให้ความสำคัญกับผู้บริโภค และมีจุดมุ่งหมายที่จะทำกำไรการที่ธุรกิจเป็นเช่นนี้จึงเป็นส่วนที่ดีที่จะทำให้ทุนหมุนเวียนตามระบบทุนที่จำเป็น เพราะถ้าไม่มีการหมุนเวียนทุน จะส่งผลต่อการพัฒนาทั้งระบบ เพราะทุนเป็นเรื่องของทรัพยากรที่มีจำกัดแต่มีผู้ที่ต้องการจะเข้าถึงเป็นจำนวนมาก ดังนั้นระบบทุนจึงทำให้เกิดการกระจายไหลเวียนไปถึงคนทั้งหมดได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะธุรกิจกลายเป็นเรื่องของกลุ่มคนที่มีอำนาจ และไม่ได้ปล่อยให้ระบบทุนเป็นไปตามที่ควรจะเป็น แต่กลับใช้โอกาสใช้เงื่อนไขต่างๆ ให้ได้ประโยชน์จากระบบนั้นๆ เพื่อให้เกิดกำไรมาก การเริ่มต้นทำธุรกิจโดยต้องการกำไรมาก จึงเป็นการสร้างความขัดแย้งกับคนที่อยู่ด้วยกันในชุมชนหนึ่งๆ เมื่อมีคนกลุ่มหนึ่งๆ ได้กำไรมากขึ้น คนอีกลุ่มหนึ่งก็กลายเป็นคนที่ขาดทุน เพราะกำไรกับขาดทุนเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นด้วยกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ระบบทุนที่จะทำให้ทุกคนได้มีโอกาสใช้ทรัพยากรมันก็เริ่มไม่จริง คนที่เสียโอกาสหรือคนที่ขาดทุน ก็จะเริ่มไม่ชอบใจ ดังนั้นการเป็นชุมชนของคนก็เสียไป ความรักใคร่ ความเห็นใจกัน ความคิดที่จะช่วยเหลือกันก็จะหมดลงไป เพราะทุกคนคิดแต่จะแสวงหากำไร นี่คือ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมของเราในขณะนี้
อย่างไรก็ตามเราก็คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าธุรกิจนั้นก็ยังเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในขณะนี้ ด้วยเหตุผลว่าทุกวันนี้เรามีทรัพยากรจำกัด แต่เรามีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น เรามีปัญหาที่ทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจายนั้นถูกจำกัดน้อยลงไปหมด เพราะธรรมชาติเองก็เริ่มไม่เอื้ออำนวยต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเราเหมือนเคย จึงทำให้คำว่าธุรกิจกลายเป็นความจำเป็น แต่ธุรกิจที่แบ่งแยกคนและทำให้คนไม่เป็นมิตรกันนั้นเป็นอันตราย เพราะในชุมชนที่เป็นเกษตรกร มีการปลูกข้าว ปลูกพืชไรต่างๆ ถึงแม้จะขาดทุนขนาดไหนก็ไม่เดือดร้อน เพราะอยู่กับสภาพแวดล้อมที่มีอาหารกิน แต่ในขณะนี้กลับกลายเป็นว่า เกษตรกรมีปัญหาเรื่องการขายซึ่งขาดทุน เนื่องจากเราต้องไปพึ่งพาปัจจัยในการดำรงชีพ หรือการยังชีพทั้งหมดจากภายนอก ทำให้คนเริ่มมีปัญหารุนแรงขึ้น ประกอบกับธุรกิจต้องการกำไรก็ทำให้คนมีความเป็นพวกกันน้อยลง หรือไม่มีพวกในชุมชน
การที่จะทำให้ระบบธุรกิจกลายเป็นเครื่องมือในการจัดการทรัพยากร หรือเป็นเครื่องมือในการพัฒนานทุนให้ดำรงอยู่และคลี่คลายปัญหาของชุมชนไปได้นั้น ทุนจำเป็นต้องมีเพียงระบบเดียว จากที่เป็นธุรกิจที่มุ่งกำไรในเรื่องของบุคคลจะต้องเปลี่ยนมาเป็นธุรกิจที่มีความร่วมมือกันของคนในชุมชนซึ่งเราเรียกว่าเป็น "ธุรกิจชุมชน" ถ้าเราทำให้ธุรกิจชุมชนเกิดขึ้นได้ กำไรที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกิจ ก็จะสามารถแบ่งปันและกระจายไปในชุมชนได้ ทำให้คนที่อยู่ด้วยกันในชุมชนลดความขัดแย้งกัน นอกจากจะต้องให้ความเป็นธรรมกับการกระจายทรัพยากร คือ กระจายกำไรที่เกิดจากทรัพยากรในท้องถิ่นให้ทั่วถึงแล้ว เราก็ต้องกลับไปให้ความสำคัญกับเรื่องอุตสาหกรรม การแปรรูปผลิตผลต่างๆ ที่มาจากท้องถิ่นให้มากขึ้นด้วย และทำต่อเนื่องด้วยระบบการจัดการที่เป็นเรื่องของตลาด การทำธุรกิจร่วมกันของตนในชุมชนก็จะสามารถคลี่คลายและแก้ไขปัญหาที่ขัดแย้งกันได้ เรื่องธุรกิจชุมชนจึงเป็นเรื่องการเรียนรู้ที่สำคัญ และเป็นเรื่องการจัดการที่จำเป็น เพราะการเรียนรู้ คือ รู้เรื่องการบริหารที่จะนำไปสู่การจัดการที่ทำให้เกิดกำไรดี แล้วนำมาแบ่งปันกันในชุมชน เพื่อจะทำให้คนลดความขัดแยงกัน ส่วนเรื่องการจัดการนั้น ก็จะทำให้เราสามารถคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากการแปรรูปในท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับสภาพท้องถิ่น และนำไปสู่การรวมตัวกันหรือร่วมมือกันเพื่อการจำหน่าย ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างกำไรโดยรวมได้
สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญในสถานการณ์นี้ เนื่องจากถ้าเราได้มีการร่วมมือกัน และทำให้เกิดระบบธุรกิจเช่นนี้ขึ้นมาได้ เราก็จะสามารถสร้างระบบเครือข่ายเชื่อมโยงกันเพราะแน่นอนว่าชุมชนที่ธุรกิจขึ้นมาและเจริญเติบโตได้วัตถุดิบภายในท้องถิ่นก็จะมีจำกัดลง แต่สิ่งสำคัญก็คือจะต้องเริ่มสร้างเครือข่ายระหว่างชุมชนกับชุมชน ชุมชนที่มีความพร้อมก็อาจจะต้องเข้าสู่การทำธุรกิจเช่นเดียวกัน การทำธุรกิจนั้นเริ่มจากการทำให้เกิดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์หรือผลผลิตของชุมชนให้กับกลุ่มที่เป็นเครือข่ายสำหรับการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ก็เกิดเป็นกระบวนการเชื่อมโยงกันใหม่ชุมชนที่ขายวัตถุดิบก็ไม่ขัดแย้งกับชุมชนที่ขายผลิตภัณฑ์เพราะเป็นเครือข่ายที่สามารถเชื่อมโยงจากพื้นฐานวิธีคิดอันเดียวกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำให้เกิดขึ้น เพราะจะกลายเป็นการพัฒนาที่ทำให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ และลดความรุนแรงในการขัดแย้งระหว่างชุมชน นอกจากนี้ก็ยังสามารถส่งออกผลผลิตที่เกิดจากท้องถิ่นผ่านกระบวนการแปรรูปในท้องถิ่นและนำไปสู่การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้มากยิ่งขึ้น โดยกระบวนการความร่วมมือกันของชุมชน
สังคมไทยเรามีเงื่อนไขในการอยู่ร่วมกัน ช่วยเหลือกันมานาน เรามีวัฒนธรรมที่เป็นบุญประเพณี เป็นเทศกาลต่างๆ ที่คนจะต้องไปร่วมมือกัน ต้องเรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยกันแก้ปัญหาด้วยกัน แต่เวลา 30-40 ปีที่ผานมา เราไปเน้นเรื่องการผลิตและเรื่องการจำหน่าย ไม่คิดหาทางแก้ไขปัญหาด้วยกัน ดังนั้นสิ่งแรกที่เกษตรกรจำเป็นต้องทำก็คือ เริ่มสร้างความเข้าใจให้คนได้เข้าสู่การใช้เงื่อนไขการ่วมมือกันทำงาน เช่น ร่วมมือกันแปรรูปที่เรียกว่าอุตสาหกรรมชุมชน ร่วมมือกันทำการตลาดโดยที่เราเรียกว่า ระบบรวมกลุ่มหรือหลักสหกรณ์มากขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนได้เรียนรู้เรื่องการร่วมมือกันเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่ผมใช้ในการเริ่มต้นรวมกลุ่มคนก็คือ กิจกรรม ซึ่งจะนำไปสู่การทำร่วมกันเรื่อยๆ และพวกเขา ก็จะพบว่ามีคนที่มีปัญหาเช่นเดียวกับพวกเขาอีกมากมายหลายคน นำไปสู่การรวมเฉพาะกลุ่มปัญหา นี่คือ การฝึกให้คนได้เข้ามาร่วมมือกัน ก็จะทำให้คนเป็นพวกกันมากขึ้น
ดังนั้น เกษตรกรทั้งหลายคงยังไม่ต้องคิดไปถึงการแข่งขันกับโลกภายนอกที่เราพูดถึงในอนาคต แต่สิ่งที่เราต้องคิดในปัจจุบันก็คือ จะสร้างผลิตภัณฑ์ชนิดใดในพื้นที่ของตนเอง เพื่อจะลดการนำเข้า เพราะมีสินค้ามากมายที่ชุมชนจะต้องพึ่งพาจากภายนอก เช่น หนึ่งหมู่บ้าน มี 150 ครอบครัว ซึ่งต้องใช้น้ำปลาครอบครัวละ 4 ขวด คือ 600 ขวดต่อเดือน ก็ต้องเริ่มคิดว่าถ้าทำน้ำปลากินเอง ก็ไม่มีความจำเป็นต้องซื้ออีก และยังจะช่วยให้ปลอดภัยจากปัญหาสารเคมีที่เจือปนมาด้วย เมื่อคิดจะทำน้ำปลา ก็ต้องคิดถึงการลงทุนและต้องหาวิธีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อน้ำปลาที่ผลิตออกมากลายเป็นสิ่งที่ได้ประโยชน์ ก็จะเริ่มขยายผลสู่ชุมชนข้างเคียง ขณะนี้เรามีบางหมู่บ้านที่ต้องทำน้ำปลา 7,000-8,000 ขวด เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ เพราะฉะนั้นชาวบ้านก็จะเริ่มเรียนรู้ไป ซึ่งการเรียนรู้เป็นเรื่องสำคัญเพราะถ้าเรียนรู้ที่จะผลิตเพื่อลดการนำเข้าแล้ว การลดการนำเข้านั้นก็ยังช่วยให้ส่งออกได้อีกด้วย ดังนั้น การคิดจากปัญหาผลกระทบจากสิ่งของใช้สอยประจำวัน ก็จะช่วยให้แก้ปัญหาได้เร็วมากยิ่งขึ้น
ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม
เกษตรกรชุมชนห้วยหิน ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา
***จากวารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ ฉบับที่ 9 ปี 2542