สวัสดีท่านผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่าน การที่เราได้มารวมตัวกันวันนี้ ถือว่าเป็นประชาคมที่สนใจเรื่องเกษตรกรรม ผมมาวันนี้เพื่อมาให้กำลังใจท่านทั้งหลาย ผมอยากดึงไปสู่ภาพใหญ่สักนิด ถ้าเราดูเหตุการณ์ในโลกตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2544 เป็นต้นมา โลกได้เข้าไปสู่ความผันผวน เนื่องจากการรวมศูนย์ของโลกอยู่ที่อเมริกา อเมริกาเป็นมหาอำนาจในทุกๆ ทาง ใหญ่ที่สุด ฉะนั้นอะไรที่กระทบอเมริกา ย่อมกระทบทั่วโลก กระทบเศรษฐกิจ กระทบหมดทุกอย่าง ตกอยู่ในความกลัว โลกปั่นป่วนหมด กลัวจะเกิดความขัดแย้งรุนแรง เรียกว่า "ไร้สันติภาพ"
ถ้าเราดูภาพโลกอย่างนี้ แล้วย้อนมามองประเทศของเราจะเห็นจุดแข็งของประเทศไทย เดิมเรามองว่ากระจอก เป็นประเทศที่ต้อง พึ่งพิงคนอื่น คนไทยเป็นคนไม่เก่ง ไม่รู้ในหลายเรื่อง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับภาพของโลกแล้ว จะเห็นภาพประเทศไทยต่างจากที่เราเคยคิด ประเทศไทยมี "ทุนทางสังคม" ในเรื่องศาสนา ศาสนาอะไรมา เราก็รับเผยแพร่ได้หมด ไม่มีประเทศไหนใจกว้างเหมือนประเทศไทย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามาแล้ว ประเทศไทยไม่มีความขัดแย้งเรื่องศาสนา ไม่มีการรบกันแบบมุสลิม ฮินดู คริสต์ อิสลาม นี่เป็นการลงทุนทางสังคมไว้
ขณะนี้คนนิยมนั่งการบินไทย เพราะรู้สึกปลอดภัย นั่งเครื่องบินอเมริกาเดี๋ยวโดนบอม โดนจี้ โดนอะไรต่างๆ แต่นั่งเครื่องบินไทยปลอดภัยเพราะประเทศไทย ไม่มีความรู้สึกรุนแรงต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นี่คือลักษณะของสังคมไทย เราเป็นประเทศสันติภาพ สิ่งนี้เป็นของมีคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะการเป็นประเทศสันติภาพจะช่วยลดต้นทุนในด้านต่างๆ และอีกประการหนึ่งประเทศไทยเป็นประเทศผลิตอาหารได้เหลือกินจนส่งออกตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา การเกษตรผลิตอาหารเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ความเจริญของกรุงศรีอยุธยามาตลอด
กรุงศรีอยุธยามีความเจริญรุ่งเรืองและร่ำรวย เป็นเมืองที่มีการค้าขายกับต่างชาติ แล่นเรือมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ยังไม่ถึงกรุงศรีอยุธยาดีจะเห็นแสงทองส่องฟ้า เพราะมีเจดีย์ทองเต็มไปหมด เป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรือง จากฐานการเกษตร จากลักษณะสองอย่างนี้ คือการเป็นประเทศที่มีสันติภาพ และผลิตอาหารได้พอกิน โลกจะปั่นป่วนแค่ไหนก็ตาม ประเทศไทยเราอยู่ได้สบาย เพราะฉะนั้นเราต้องรักษาสถานะตรงนี้ไว้ให้ดี ถ้าเราจะทำอย่างอื่นต้องไม่ทำลายตรงนี้ คือ "การเป็นประเทศสันติภาพและผลิตอาหารได้พอกิน" ถ้าเราดูอย่างนี้แล้ว จะเห็นสถานะประเทศไทยเด่นขึ้นมา เดิมเราด้อยทุกอย่าง เป็นประเทศที่แย่ทุกอย่าง ต้องตามอย่างฝรั่งมาทั้งนั้น แต่ลองดูอีกภาพหนึ่งอย่างที่ผมบรรยายนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ยอดเยี่ยม ในขณะที่โลกกำลังแย่
ผมพยามบอกตั้งนานมาแล้ว เวลาเขาพูดปฏิรูปการศึกษาที่บอกให้อีก 20 ปี คนไทยจะเก่งเหมือนฝรั่ง แต่ผมบอกว่าต้องดีกว่าฝรั่ง เพราะฝรั่งมีปัญหาเยอะ เขามาจากพื้นฐานการแย่งชิง ท่านทั้งหลายไปดูประวัติของฝรั่ง เดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่ แต่เปลี่ยนรูปแบบไป ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ คนไทยต้องเข้าใจศักดิ์ศรีของเรา คนเราไม่มีศักดิ์ศรีอยู่ไม่ได้ ไม่มีเงินยังไม่เป็นไร ขอให้มีศักดิ์ศรี ถ้ามีเงินแต่ไม่มีศักดิ์ศรี จะอยู่อย่างไร อันนี้ต้องเป็นจิตสำนึก เป็นจิตสำนึกแห่งชาติ จิตสำนึกของคนไทย
เรื่องการเกษตรมีอยู่ช่วงหนึ่งถ้ามองย้อนไป 20 ปีที่แล้ว นักเศรษฐศาสตร์มักจะพูดว่าการเกษตรมีความสำคัญน้อยลง โดยดูตัวเลขจากรายได้ว่า รายได้มาจากแหล่งใด และรายได้จากภาคเกษตรกรรมก็ลดน้อยลง ที่จริงมีการได้ในมิติอื่นๆ อีกเยอะ เงินเป็นเพียงส่วนน้อยการดูเฉพาะรายได้ที่เป็นเงิน แล้วบอกว่าการเกษตรมีความสำคัญน้อยลง ผมเองก็ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ ไม่ใช่นักอะไรทั้งนั้น ไม่มีความรู้อะไร เป็นคนบ้านนอกคอกนา เป็นคนชั้นต่ำ แต่ผมไม่เห็นด้วยที่เขาพูดว่า ภาคเกษตรกรรมจะมีความสำคัญน้อยลง ผมเคยไปประเทศไนจีเรีย ซึ่งเดิมเป็นประเทศเกษตรกรรมผลิตอาหาร แล้วเขาพบน้ำมัน คนก็เฮไป น้ำมันหมด หยุดทำการเกษตร แต่พอน้ำมันราคาลดลง ทั้งประเทศเลยขาดทุนทั้งประเทศ เกิดจราจล เกิดปัญหาสังคม เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
ผมเคยได้ยินพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งมานานมากแล้วว่า การเกษตรเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ที่น่าขำเชิงสังเวช คือ คำถามที่ว่า พระเจ้าอยู่หัวทำไมทำนาในสวนจิตรลดา แล้วสวนจิตรลดาก็อยู่ใกล้กับทำเนียบรัฐบาลนิดเดียว ท่านต้องการบอกอะไรกับสังคมไทย ต้องการบอกอะไรกับรัฐบาล แต่รัฐบาลไม่เคยได้ยินเลย พวกนั้นก็ยังไปแนวทางอย่างเดิม คือ ภาคเกษตรจะสำคัญน้อยลงๆ นั่งรถผ่านสวนจิตรลดา เห็นวัว เห็นอะไรที่พระเจ้าอยู่หัวทำในสวนจิตร ท่านต้องการบอกอะไร ตอนหลังท่านก็มารับสั่งว่า "ฉันพูดเรื่องนี้มา 27 ปีแล้ว ไม่มีคนได้ยิน" นึกภาพซิครับว่า พระเจ้าอยู่หัว ท่านอยู่ในฐานะสูงเด่น คนก็รักท่านรับสั่งอะไรดีๆ ยังไม่ได้ยินเลย เพราะสมองมันถูกล้างหมด แม้คนรักพระเจ้าอยู่หัว เท่าไรก็ไม่ได้ยิน เพราะหมกมุ่นของฝรั่งไปแล้ว เพราะเราเรียนกันมาแบบนั้นหมดเลย ผมยังไม่พูดถึงการปฏิรูปการศึกษา ตอนนี้กำลังทะเลาะกันอยู่ ผมจะพูดสักเล็กน้อย ลองมาดูเรื่องการเกษตร เดิมเราคิดแต่เรื่องผลผลิต กับเรื่องเงินได้ผลผลิตก็ได้เงิน คิดเช่นนี้มาเรื่อย ความคิดเปลี่ยนไปเรื่อยๆ กระทรวงเกษตรฯ ก็ตั้งขึ้นมาเพื่อผลิตไปขายได้เงินมา แต่มองไม่เห็นคน จึงมีคนวิจารณ์ว่า กระทรวงเกษตรฯ ควรเปลี่ยนชื่อเป็น "กระทรวงเกษตรกร" จะได้มีคนอยู่ในนั้น ไม่อย่างนั้นจะคิดแต่เรื่องผลผลิตกับเรื่องเงิน จะคิดแต่เรื่องเป็นวัตถุหมด รวมทั้งการแพทย์ของผมด้วย
ผมว่าขณะนี้ความคิดเราเข้าใจมากขึ้น เรารู้แล้วว่าถึงแม้ว่าเราจะพูดเรื่องการเกษตร แต่ว่ามีคนเป็นศูนย์กลาง แล้วเราก็เชื่อมต่อไปเรื่องอื่น เรื่องคนจะเชื่อมต่อทุกเรื่อง แต่มีคนและความเป็นคนอยู่ตรงกลาง เชื่อมต่อไปเรื่องสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ เราทำการเกษตรโดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ เราปลูกพืชราคาถูกโดยทำลายป่าไม้ ปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกปอ ที่เรียกว่า "เกษตรแผนใหม่" หรือเรียกว่า "เกษตรพืชเชิงเดี่ยว" หรือ "เกษตรเพื่อเงิน" (Cash Crop) ให้ได้เงินเร็วๆ แต่จริงๆ ได้นิดเดียว เพราะราคาก็กิโลกรัมละ 3-4 บาท มันสำปะหลังก็กิโลกรัมละ 50 สตางค์ บางปีก็ 1 บาทเศษ เราทำลายป่าไม้ และความหลายหลายทางชีวภาพ ในช่วง 40 ปี ที่ผ่านมา เดิมเรามีป่ากว่า 220 ล้านไร่ ปัจจุบันเหลือประมาณ 80 ล้านไร่ ทำลายไปประมาณ 140 ล้านไร่ ป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของคนจน คนจนต้องการเห็ด หน่อไม้ มัน ผัก จับสัตว์ ปลูกบ้าน เชื้อเพลิงได้จากป่าทั้งสิ้น พอป่าหมดไปเหลือแต่อ้อย ปอ มันสำปะหลัง ซึ่งเขาขาดทุน ไม่มีที่ทำกิน คนก็จนลง เพราะฉะนั้นตอนนี้กระทรวงเกษตรฯ ก็หันมาให้ความสนใจการเกษตรที่เรียกว่า "เกษตรผสมผสาน" เราต้องรักษาความเป็นป่าไว้ รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ซึ่งทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายสุขภาพ เรื่องคนยังเกี่ยวกับชีวิตจิตใจ ความอบอุ่นของครอบครัว และชุมชนเข้มแข็ง ที่เรียกว่า "สังคม" ตรงนี้ก็เข้ามาเพราะว่าการเกษตร ผมเคยไปเจอครอบครัวเกษตรกร เดิมพ่อบ้านไปขายของเร่ ออกจากบ้านไปเป็นเดือน เมียก็อยากให้กลับมาอยู่บ้าน มาทำการเกษตรด้วยกัน จะได้อยู่กันเป็นครอบครัว การเกษตรจึงมีเรื่องครอบครัวเข้ามา พ่อแม่ลูกอยู่ด้วยกัน อย่างอบอุ่น เงินบาทต่อบาทมีค่าเท่ากัน สมมติมีครอบครัวเกษตรกรทอผ้าอยู่ใต้ถุนบ้าน ลูกเข้าร่วมด้วย ถึงแม้มีรายได้ไม่เท่ากับการไปรับจ้างตัดอ้อย ที่อื่น ทิ้งบ้านไปได้ 150 บาท อยู่ตรงนี้ได้ 70 บาท แต่ 70 บาทตรงนี้มีค่า มากกว่า 150 บาทตรงโน้น เพราะมีครอบครัวอบอุ่นและมีค่าอย่างอื่นด้วย
ถ้าเราไม่คำนึงถึงตรงนี้ เราคำนึงถึงเงินเท่านั้น ครอบครัวก็แตก ชุมชนก็แตก ตรงนี้ศีลธรรมอยู่ไม่ได้ เพราะครอบครัวกับชุมชน คือ โครงสร้างของศีลธรรม ศีลธรรมไม่ได้อยู่ที่พระสอนเท่านั้น แต่มีโครงสร้างครอบครัวอบอุ่นและชุมชนเข้มแข็ง พระจะสอนหรือไม่สอนศีลธรรมก็มี สิ่งที่เราทำมาส่งผลให้ครอบครัวแตก ชุมชนแตก เพราะเรานึกถึงแต่เงินๆๆๆ ซึ่งที่จริงเป็นเงินของคนส่วนน้อย มาทำลายฐานของคนส่วนใหญ่เอาไปให้คนส่วนน้อย ที่เราทำมาเป็นอย่างนั้น การเกษตรจะรื้อฟื้นตัวนี้กลับมา ทำให้ครอบครัว อบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง เรื่องสุขภาพเกี่ยวข้องกับการลดความรุนแรง ทุกวันนี้ทั่วโลกมีความรุนแรงมากขึ้น (Violence) ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ และฝรั่งยังไม่มีความสามารถลดความรุนแรงเลย บ้านเมือง ทั้งอเมริกาและอังกฤษ เกิดความรุนแรงมากขึ้นทั้งสิ้น
ตัวอย่างการเกษตรที่ลดความรุนแรง ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม เล่าว่าตอนปลูกมันสำปะหลังเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วมีพื้นที่ 300 กว่าไร่ แต่มีต้นไม้ชนิดเดียว คือ ต้นมันสำปะหลัง แล้วก็ขาดทุนทุกปีและขาดทุนมากขึ้นๆ จนเป็นหนี้ธนาคาร 3 แสนบาท ซึ่งเป็นเงินที่มาก จะใช้หนี้ได้อย่างไร หนี้สินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีทางหลุดพ้นได้เลย ชาวบ้านทำงานหนัก แต่หนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เวลามีน้อยที่จะดูแลลูกและคนแก่ พระมีความเครียดมากขึ้น มีการฆ่ากันตายทุกคืน แต่พอปรับตัวมาทำเกษตรผสมผสาน บ้านผู้ใหญ่วิบูลย์จากเดิมเคยมีต้นไม้ชนิดเดียว บัดนี้มีความหลากหลายทางชีวิตกว่า 600 ชนิด มีกินตลอดปี ที่กินรายวันก็มี ที่ออกเป็นรายอาทิตย์ก็มีรายเดือน รายปีก็มี มีนานาชนิด ผู้ใหญ่วิบูลย์บอกว่าทุกคนอิ่มมาก เต็มกระเพาะทุกคนมีกินอิ่ม กินอิ่มก็สบายไม่เป็นหนี้ มีเงินออมเพิ่มขึ้นทีละน้อยๆ มีเวลามากขึ้นใจเย็นลง คุยกับพระบ้าง ทำอะไรให้เด็กและคนแก่บ้าง การฆ่ากันตายก็หายไป ตรงนี้ลดความรุนแรงลงไป ผมคิดว่าต้องเอาประเด็นนี้มาพูดกัน อย่าไปพูดว่าผลิตเพื่อให้ได้เงินทองเท่านั้น เรายังได้อย่างอื่นอีกมาก
เราไปบ้านดงบัง อำเภอแวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น ไปคุยกับพ่อบุญทัน เดิมเขาปลูกพืชเชิงเดี่ยว แล้วก็เป็นหนี้ พอเป็นหนี้ก็กินเหล้า เล่นการพนัน แล้วก็ไม่มีใครคบ ต่อมาเขาเปลี่ยนมาทำเกษตรผสมผสาน หนี้หลุดก็กินอิ่ม แล้วก็เลิกอบายมุขหมด เป็นไวยาวัชกรที่วัด ไปไหนก็คนยกมือไหว้ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น นอนหลับสนิท นี่คือสุขภาวะตามคำนิยามของ องค์การอนามัยโลก คือ สุขภาวะที่สมบูรณ์ ทั้งกาย จิตทางสังคม และทางจิตวิญญาณ มีกินอิ่ม น้ำหนักเพิ่ม คือ สุขภาวะทางกาย นอนหลับสนิท คือ สุขภาวะทางจิต ไปไหนมีคนยกมือไหว้ สุขภาวะทางสังคม การทำความดี คือ สุขภาวะทางจิตวิญญาณ
อีกประเด็นก็เป็นเรื่องใหญ่ คือ สัมมาอาชีวะ ท่านทั้งหลายครับ วิถีชีวิตที่เจริญ ที่พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสเอาไว้ที่เรียกว่า "อริยะมรรค" หรือ "มรรค 8" เป็นวิถีชีวิตของคนที่เจริญ ไม่ใช่การแย่งชิง การค้าเสรี การเงินเสรี การดูดเสรี โลภจริตเสรี เพราะนั้นผู้เจริญสมัยใหม่ที่พูดกันที่แท้คือ ความไม่เจริญ พระผู้มีพระภาคบอกวิถีชีวิตที่เจริญคืออย่างนี้ ในอริยะมรรคมีสัมมาอาชีโว ถ้าในโลกนี้คนมีสัมมาอาชีวะ คือ อาชีพที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม ยิ่งมีมากที่สุดเท่าไหร่โลกยิ่งมีสันติสุข แต่ทุกวันนี้ท่านทั้งหลายลองไปนับคนที่มีอาชีพที่ไม่มีสัมมาอาชีวะกำลังทำอะไรบ้าง เล่นหุ้น เล่นการพนัน อยากจะเอาเปรียบคนอื่น คนที่มีข้อมูลน้อยกว่า จะถูกดูดเงิน อันนี้ไม่ใช่สัมมาอาชีวะ ไปเปิดไนท์คลับ อาบอบนวด จะขอปิดตี 2 นี่ก็ไม่ใช่สัมมาอาชีวะ แล้วในอเมริกาคนอยู่ในภาคเกษตรเพียงร้อยละ 3 และที่เหลือต้องไปอยู่ในเมือง เพราะใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ คนอเมริกันเพียงร้อยละ 3 ก็ผลิตอาหารได้เกินแล้ว แต่ต้องคิดถึงคนในเมืองด้วย และในเมืองก็มีอาชีพต่างๆ และในอาชีพต่างๆ ก็ไม่ใช่สัมมาอาชีวะเยอะมาก รวมทั้งการค้าอาวุธ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของอเมริกา เมื่อค้าอาวุธก็ย่อมผลักดันให้คนรบกันจะได้ขายอาวุธ จึงไม่ใช่สัมมาอาชีวะ เพราะฉะนั้น การคิดเรื่องสัมมาอาชีวะนั่นสำคัญ ผมอยากให้นักศึกษาทำการวิจัยว่า แต่ละประเทศในโลกนี้ ทำไมจะมีสัมมาอาชีวะได้มากที่สุด หนีไม่พ้นเรื่องการเกษตร แปลว่าเราควรพยายามดึงคนเข้าสู่ภาคเกษตรให้มากที่สุด เพราะภาคเกษตรกรรมเป็นสัมมาอาชีวะ ประเด็นตรงนี้ ถ้าเราเอาคนเป็นตัวตั้ง บอกว่าสัมมาอาชีวะห้มากที่สุด อย่าให้คิดว่าได้เงินมากที่สุด ถ้าเอาเรื่องจักรเข้ามาผลิตมาก คนก็จะถูกผลักดันไปอยู่ในเมือง และไปเป็นพวกมิจฉาอาชีวะมากขึ้น บ้านเมืองก็ลำบาก เพราะฉะนั้นการที่จะเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการเกษตรต้องคิดว่าไปลดคนที่มีอาชีพนี้หรือเปล่า อย่าให้ลด พยายามเพิ่มให้อยู่ในฐาน พยายามทำฐานของภาคเกษตรกรรมให้มากที่สุด เอาคนเป็นที่ตั้ง ทุกอย่าง เชื่อมโยงกันอย่างถูกต้อง
ฉะนั้น สิ่งที่เราพูดกันคือกระบวนการศีลธรรม คือ เอาเรื่องใหญ่ๆ เข้าไป อย่าไปพูดถึงเรื่องวิทยาการ (Technical) ต้องพูดถึงศีลธรรม ถ้าเกี่ยวข้องกับ ความถูกต้องทั้งหมดและมีฐานแล้วก็จะเชื่อมโยงไปธุรกิจ อุตสาหกรรมอะไร แต่ถ้าอุตสาหกรรมและธุรกิจลอยตัว ไม่ได้อยู่ในฐานก็จะทำร้ายผู้คนและฐานของสังคม แต่ถ้ามีฐานอย่างเป็นบูรณาการ อย่างที่ว่าเอาคนเป็นตัวตั้ง และเชื่อมโยงทุกอย่าง มาสู่ธุรกิจอุตสาหกรรม ถ้ามารวมกันหมดทุกอย่าง ท่านทั้งหลายครับ เราได้พูดถึงวิถีชีวิตร่วมกัน คือ สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม สิ่งนี้เรียกว่า วัฒนธรรม หมายถึง วิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชนที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม แล้วกลายเป็นยุทธศาสตร์วัฒนธรรม
ที่แล้วมา เราพูดถึงการแข่งขันจากจุดอ่อนของเรา ซึ่งตลกสิ้นดี สิ่งที่เป็นจุดแข็งของเราและไม่มีคนอื่นแข็งเลย คือ วัฒนธรรมเป็นวิถีชีวิตของเราไม่ทอดทิ้งกัน การมีโจทย์ที่ดีก็จะมีพลังขับเคลื่อน ท่านทั้งหลายลองดูพระพุทธศาสนากว่า 2,500 ปี แล้วยังขับเคลื่อนไป เพราะพระพุทธเจ้า มีโจทย์ที่แรงกล้า คือ "มนุษย์จะพ้นทุกข์ได้อย่างไร" เป็นโจทย์ที่แรง แต่ว่าการศึกษาไทยไม่ใช้โจทย์ เพียงแต่ท่องหนังสือไปเยอะๆ โจทย์เรื่องนี้ คือว่า การศึกษาไทยจะแก้ความทุกข์ยากของคนทั้งแผ่นดินได้อย่างไร
ยังมีอีกประเด็นครับ ที่อยากพูดเรื่องเกษตรกรรม ถ้าเราดูให้ดี เป็นกระบวนการทางศีลธรรมแล้ว ยังอยู่ในกระบวนการปฏิวัติเงียบ เรื่องนี้เข้าใจได้ง่ายมาก แต่ทำไมหลงกันไปทั้งประเทศ เส้นผมบังภูเขาหรืออย่างไร พระเจดีย์ต้องสร้างที่ฐาน ถ้าฐานแข็งแรงเท่าไหร่ พระเจดีย์ยิ่งขึ้นได้สูงมาก แต่ถ้าฐานอ่อน เจดีย์จะขึ้นได้อย่างไร ที่แล้วมาสังคมไทย สนใจแต่ข้างบน แล้วให้ข้างบนมาทำร้ายข้างล่าง เอาทรัพยากรไป ทำลายวัฒนธรรม ทำลายวิถีชีวิต มาดึงจากข้างล่างไป ข้างล่างอ่อนแอเหมือนสามเหลี่ยมที่เอาหัวปัก ปักอยู่เช่นนั้นก็ล้ม แล้วพอฐานสังคม ถูกบ่อนทำลายลงอ่อนแอลง สังคมทั้งหมดทรุดตัวลงเหมือนกับโรงแรมรอยัลพลาซ่าที่โคราช เมื่อ 7-8 ปีก่อน เพราะฉะนั้นจุดสำคัญของเราคือผลิกสามเหลี่ยมและทะนุบำรุงให้ฐานแข็งแรง สมมติว่าทุกหมู่บ้านหายจน ทุกหมู่บ้านเข้มแข็ง ตำบลก็เข้มแข็งทุกด้านคนก็จะมีอำนาจซื้อเยอะ ข้างบนก็จะสบาย มั่นคง ฉะนั้นยุทธศาสตร์ตรงนี้ คือ การหงายของที่คว่ำ มาทำฐานให้แข็งแรง และสังคมทั้งหมดจะดีขึ้น แต่ถ้ายังเป็นเช่นนี้ต่อไปเกิดเรื่องรุนแรง ประเทศไทย ผมเตือนไว้หลายปีแล้วว่าความยากจนกับการแย่งชิงทรัพยากรในชนบท จะนำไปสู่การนองเลือดในประเทศไทย มีหลายคนได้ช่วยกันทำตรงนี้มาพอสมควรและพอเห็นแสง
การหงายของที่คว่ำ หรือการเปลี่ยนโครงสร้างคนไทยจากสังคมที่หนัก ข้างบน ซึ่งสร้างกันมาอย่างนั้นตลอดเวลา ดูสุภาษิตต่างๆ ล้วนแต่หนักข้างบนทั้งนั้นเช่น รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา ผมเป็นคนจน ผมหามเสาครับ เมื่อเด็กๆ หามเสาดีครับ มีบ้านอยู่ ปลูกบ้าน แต่ทำไมถึงว่าเช่นนั้น เพราะสอนให้นิยมข้างบน ขอให้ได้เป็นเจ้าคนนายคน ขอให้นั่งกินนอนกิน คนเราต้องทำงาน ทำมาหากิน ต้องทำงานถึงจะดี นี่ก็สะท้อนเศรษฐกิจไทย คือเศรษฐกิจให้คนนั่งกินนอนกิน เพราะว่าท่าน อ.รังสรรค์ ธนาพรพรรณ นักเศรษฐศาสตร์ บอกผมนานมาแล้วว่ารายได้ของประเทศร้อยละ 85 อยู่ใน 3 อย่าง คือ ค่าเช่า ดอกเบี้ย และกำไร ซึ่งแสดงถึงการขูดรีด นั่งกินนอนกิน คือ กินค่าเช่า ดอกเบี้ย กำไร การที่จะปรับโครงสร้างของสังคมจากอันนี้ไปเป็นอันโน้น โดยไม่มีการฆ่ากันเป็นเรื่องยาก แต่สังคมไทยกำลัง เกิดขึ้นตรงนี้ ผมถึงเรียกว่าอันนี้เป็นการปฏิวัติเงียบ บางคนไม่รู้และคนที่ร่วมอยู่ในขบวนก็ไม่รู่ว่า เป็นการปฏิวัติ และการเกษตรก็รวมอยู่ในนี้ด้วย เพราะการเกษตรพูดถึงฐานของสังคม หมายถึง พลิกรูปสามเหลี่ยมด้วยสันติวิธี สิ่งนี้น่าภูมิใจ ตรงนี้ทำยากนะครับ โดยไม่ฆ่ากัน บางประเทศฆ่ากันแล้ว ก็ยังทำไม่ได้อีก ในประเทศไทยกำลังเกิด ไปดูเถอะครับ ผู้คนเยอะมากกำลังร่วมกันทำตรงนี้ แล้วใครคนหนึ่งทราบไหมครับที่ร่วมทำตรงนี้ พระเจ้าอยู่หัวใช่ไหมครับ ท่านอยู่ข้างบน แต่ท่านสนพระทัยข้างล่าง ทำให้คนอื่นตามกันมาสนใจข้างล่าง ผมคิดว่าอันนี้เป็นดุลของสังคมไทย ที่เราได้ช่วยกันตรงนี้ และผมคิดว่าขณะนี้พ้นขีดอันตรายแล้ว ขีดอันตรายที่ผมมองมา 20 กว่าปีนี้ คือ ถ้าคนจนถูกบีบคั้นมากเกินไป ไม่มีทางออก วันหนึ่งจะลุกขึ้นมาฆ่าคนรวย เราก็ไม่อยากให้เกิดเช่นนั้น เพราะมันจะวุ่นวายไปหมดทั้งสังคม
ที่พยายามทำอะไรขึ้นมาก็เพื่อตรงนี้ เพื่อสันติวิธี แต่คนรวยก็ไม่รู้หรอก เขาก็เกลียดเรา แต่เราก็พยายามทำให้เขาไม่ถูกฆ่า แต่ตอนนี้ปลอดภัยแล้ว เพราะอะไรๆ มันลงไปข้างล่างเยอะ คนที่ช่วยกันทำ ข้าราชการ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) นักธุรกิจ และแนวนโยบายก็ไปกันได้มากขึ้นเรื่อยๆ รัฐธรรมนูญจะพูดถึงเรื่องชุมชน ความเข้มแข็งของชุมชน รวมทั้งแผนฯ 8 และแผนฯ 9 รัฐบาลนี้ก็พยายามไปข้างล่าง ผมคิดว่าตอนนี้แนวทางมันชัดเจน ถ้าถามว่าข้างล่างคืออะไรข้างล่าง คือ ชุมชนท้องถิ่น เข้มแข็งทุกทาง ทั้งทางเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ หมดทุกทาง เชื่อมโยงกันหมดอย่างเป็นบูรณาการ
ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งด้วย 8 องค์ประกอบที่เชื่อมโยงกัน คือ (1) ทรัพยากรธรรมชาติ (2) โครงสร้างทางกายภาพ เช่น ถนน แหล่งน้ำ ไฟฟ้า (3) อาชีพการเกษตร (4) อาชีพนอกการเกษตร เช่น ทำธุรกิจ (5) เงินทุนเครดิต รัฐบาลที่ตั้ง ธ.ก.ส. ขึ้นมา (6) การเรียนรู้ (7) ความรู้ และ (8) การจัดองค์กรการจัดการ เพราะฉะนั้นจุดสำคัญของการเคลื่อนให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง คือ สิ่งที่เรียกว่า "การเรียนรู้ร่วมกัน" ในเน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ ไปท่องหนังสือเท่าไร ก็ทำไม่เสร็จ การใช้ความรู้สำเร็จรูปที่เรียนจะไม่ได้ผล ต้องเรียนรู้จากการปฏิบัติร่วมกัน การเรียนรู้ร่วมกันได้ต้องมีความเอื้ออาทรต่อกัน มีธรรมะเข้ามาตรงนี้ได้ สิ่งที่ไม่ใช้เงินและไม่ใช้อำนาจ ที่จะเกิดตรงนี้ได้ ธรรมะ คือ ความเอื้ออาทรต่อกัน ความเปิดเผย ความจริงใจ ความเชื่อถือไว้วางใจ และการเรียนรู้ ตรงนี้ชุดหนึ่งเป็นธรรมะชุดที่ไม่ใช้เงิน ถ้าเอาเงินใส่เข้าไปแตกหมด ต้องใช้คุณค่าที่ไม่ใช้เงินก่อน เงินอาจเป็นตัวประกอบได้ แต่ไม่ใช่ตัวหลัก เงิน 1 ล้านบาทที่ลงไปหมู่บ้านต้องระวัง ไม่งั้นอาจไปทำลาย ถ้าเอาเงินนำหน้า ต้องใช้คุณค่าที่ไม่ใช้เงิน ความรู้ ช่วยการเรียนรู้ ช่วยปลุกจิตสำนึก มีการวิจัยที่ตำบลแห่งหนึ่งพบว่า ใช้น้ำปลาปีละ 7 แสนบาท ค่าเครื่องดื่ม ต่างๆ 25 ล้านบาทต่อปี ตามปกติ คนจะไม่มีความรู้ตรงนี้ เพราะต่างคนต่างซื้อ ทีละขวด ทีละกระป๋อง ไม่เห็นภาพรวม แต่พอวิจัยตรงนี้ สร้างความรู้ขึ้นมาตรงนี้กระทบจิตสำนึก ทำอย่างไรจะลดรายจ่ายของเรา ทำอย่างไรจะเพิ่มรายได้ นี่คือจุดสำคัญ ความรู้ การเรียนรู้ แล้วพอมีกระบวนการทำงานร่วมกัน จะเกิดผู้นำตามธรรมชาติ ผู้นำตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นจะดีกว่าผู้นำที่ได้จากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง
ผู้นำควรมีลักษณะ 3 ประการ คือ (1) เป็นคนฉลาด แต่ถ้าเลือกตั้ง ไม่แน่อาจจะได้คนโง่ เพราะอาจใช้เงินซื้อเสียงเพื่อเข้ามา (2) เป็นคนที่เห็น แก่ส่วนรวม ถ้าการเมืองได้คนที่เห็นแก่ตัวจัดตั้งมาเยอะ (3) พูดจากับคนอื่นรู้เรื่อง ติดต่อสื่อสารดี ไม่ใช่อรหันต์แห้ง คือ มีความดี แต่พูดจากับใครไม่เป็น นั่งเฉยๆ
สำหรับผู้ที่มีคุณสมบัติทั้ง 3 ประการ สิ่งที่ตามมาคือเป็นที่ยอมรับของคนทั้งหลาย พอได้รับการยอมรับ ก็สบาย เพราะใครๆ ก็ยอมรับ เห็นความดีทุกอย่าง เกิดการจัดองค์กรขึ้น มีผู้นำ มีการจัดการเกิดขึ้น ซึ่งจะสัมพันธ์กันมีการเรียนรู้ มีการสร้างความรู้ เอาความรู้มาใช้ เกิดผู้นำตามธรรมชาติขึ้น เกิดการจัดองค์กรขึ้น เมื่อดำเนินการต่อไป ชุมชนท้องถิ่นจะเข้มแข็งสามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง ทั้งเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม ฯลฯ
ผมคงต้องขอยุติและอำลาไปก่อน สวัสดีครับ
ศ.นพ.ประเวศ วะสี
**ถอดเทปจากการบรรยาย "บทบาทภาคเกษตรต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน"
ในการสัมมนาโครงการเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืน วันที่ 26-28 พฤศจิกายน 2544
ณ โรงแรมทาวน์อินทาวน์ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี
***จากหนังสือ 3 ปีเวทีธุรกิจชุมชน เครือข่ายชุมชนชาวชัยนาทและเพื่อน เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2544