ข่าวครึกโครมที่ว่า ชาวต่างชาติใช้ “คนไทยหัวใจทาส” เป็นนอมินี (หุ่นเชิด) กว้านซื้อที่นา เพื่อผลิตข้าวส่งกลับไปยังประเทศของตนเองนั้น จริงหรือเท็จ? คงไม่ทำให้หนี้สินของชาวนาลดลง หรือชาวนาได้ที่นากลับคืน
เพราะยังมี “คนไทยหัวใจไม่พอเพียง” อีกมากมาย ไม่เพียงฮุบที่ของเกษตรกร หากลามไปถึงที่ดินสาธารณะ ทั้งป่า เขา แม่น้ำ ทะเล ที่ริมถนน ที่ริมทางรถไฟ ฯลฯ และในทำนองเดียวกัน ก็มีนักธุรกิจไทยหลายรายใช้ “นอมินี” เพื่อแย่งชิงที่ดินของเกษตรกรในประเทศเพื่อนบ้านด้วย
ประเทศไทยเป็น “อู่ข้าวอู่น้ำ” ส่งออกข้าวและยางพาราเป็นอันดับ 1 ของโลก ชาวสวนยางยังอยู่ในสภาพที่เลี้ยงตัวเองได้ ขณะที่ประเทศสิงคโปร์ (ไม่มีสวนยาง) ร่ำรวยมหาศาลจากการขายยาง
ส่วนชาวนาไทยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ต้องขายนาไปใช้หนี้ เรากำลังส่งออก “เลือดและน้ำตาของชาวนา” ใช่หรือไม่? เราจะยังคงรู้สึกภาคภูมิใจที่เป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกได้อย่างไร?
ใน 10 ปีที่ผ่านมา ทุกรัฐบาลมุ่งขจัดความยากจนของเกษตรกร ใช้สารพัดนโยบายประชานิยม ซึ่งมักเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ตัวอย่างเช่น โครงการรับจำนำพืชผลทางการเกษตร ทั้งลำไย ข้าว ข้าวโพด มันสำประหลัง สรุปได้หรือยังว่า งบประมาณที่ใช้ไปถึงมือเกษตรกรเท่าไร?
ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ก็ลักลอบเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน และอันตรายมากกว่านั้น คือ ข้าวเปลือกที่ทะลักเข้ามามีคุณภาพต่ำ จะทำลายชื่อเสียงคุณภาพข้าวไทยที่สั่งสมมายาวนาน
แม้แต่ “โครงการชุมชนพอเพียง” ที่นำ “ปรัชญาการพัฒนาของในหลวง” มาใช้ เพื่อฝึกฝนให้ชุมชนคิดและตัดสินใจด้วยตนเอง ก็ยังถูกนักการเมืองและข้าราชการชั่วร่วมมือกับพ่อค้าเลวทำลาย
หลังจากจบโครงการต่างๆ รัฐบาล ดีเอสไอ ตำรวจ ศาล ฯลฯ ต้องสาละวนตามล้างตามเช็ดการฉ้อราษฎร์บังหลวง มักได้ปลาซิวปลาสร้อยมาลงโทษ ซึ่งผู้แพ้ตัวจริงคือคนไทยและประเทศชาติ
ถ้าชาวนามีความภาคภูมิใจ มีความมั่นใจ รู้สึกมั่นคงในอาชีพ ทำนามีกำไร พึ่งตนเองได้ ย่อมไม่ขายที่นาอย่างแน่นอน ขณะที่วิทยาลัยเกษตรฯ คงเต็มไปด้วยลูกหลานของชาวนา แต่ปรากฏว่า ยิ่งพัฒนา ผลลัพธ์กลับตรงกันข้าม ปัญหาอยู่ที่ไหน? จะได้แก้ให้ถูกที่ เกาให้ถูกที่คัน
ตัวอย่างชาวนาผู้นำ 2 ราย นายบุญชู สุคนธา และนายชูเกียรติ สุพรรณคง อายุ 42 ปีเท่ากัน ทั้งคู่เป็นสมาชิกกลุ่มสำนักตะค่าพัฒนา หมู่ 4 ตำบลสนามคลี อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ก่อตั้งเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2545 เพื่อให้สมาชิกพึ่งตนเองได้และพึ่งพากันเอง เริ่มเรียนรู้ด้วยกิจกรรมการลดต้นทุนการผลิตข้าว ซึ่งปัจจุบันมีทั้งไร่นาสวนผสมและการผลิตมะม่วงส่งออก
ระหว่างปี 2548-2549 ศาสตราจารย์ ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ และคณะ ได้จัดทำโครงการวิจัย “ปุ๋ยสั่งตัด” สำหรับการปลูกข้าวในเขตชลประทาน จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งกลุ่มสำนักตะค่าพัฒนา หมู่ 4 ตำบลสนามคลี อำเภอเมือง ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการด้วย ทำให้เกษตรกรทั้ง 2 รายดังกล่าวมีความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ได้เป็นอย่างดี
เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงใช้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยแบบกว้างๆ หรือที่เรียกว่า “การใช้ปุ๋ยแบบเสื้อโหล” (เสื้อมีขนาดเดียว) ไม่มีการวิเคราะห์ดิน ต่อมาพัฒนาเป็น “การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน” (เสื้อมีขนาด เล็ก กลาง ใหญ่) โดยนำค่าวิเคราะห์ เอ็น-พี-เค ในดินขณะนั้น มากำหนดคำแนะนำการใช้ปุ๋ย
“ปุ๋ยสั่งตัด” (เสื้อมีขนาดพอดีตัว) นำข้อมูลพันธุ์พืช แสง อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน ชุดดิน และ เอ็น-พี-เค ในดินในขณะนั้น มากำหนดคำแนะนำการใช้ปุ๋ย จึงมีความถูกต้องมากกว่า พืชจะแข็งแรง ลดปัญหาโรคและแมลง ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น และต้นทุนการผลิตลดลง
ข้อมูลต่อไปนี้แสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตข้าว เพราะต้นข้าวจะแข็งแรงขึ้น ปัญหาโรคและแมลงจึงลดลง ค่าใช้จ่ายในส่วนนั้นย่อมลดลงตามไปด้วย
ตารางที่ 1 แสดงข้อมูลการผลิตข้าวของนายบุญชู สุคนธา ระหว่างปี 2551-2552 จำนวน 3 ครั้ง โดยปลูกข้าว 2 แปลงที่ชุดดินแตกต่างกัน แต่ค่าวิเคราะห์ เอ็น-พี-เค ในดินขณะนั้นเท่ากัน คือ ต่ำ-ต่ำ-ต่ำ (ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ)
สรุปได้ว่า ในพื้นที่ 1 ไร่ (ถ่วงน้ำหนักด้วยขนาดของพื้นที่) ได้ผลผลิตข้าว 999 กก. (น้ำหนักสด) ใช้ปุ๋ยเคมี 28 กก. (ปุ๋ยสูตร 16-20-0 10 กก. 46-0-0 9 กก. และ 0-0-60 9 กก.) ค่าปุ๋ยเคมี 525 บาท มีต้นทุนการผลิต 2,972 บาท ขายข้าวเปลือกกิโลกรัมละ 10.99 บาท และได้กำไร 8,007 บาท
ตารางที่ 1 “ปุ๋ยสั่งตัด” กับการผลิตข้าวของนายบุญชู สุคนธา
ตารางที่ 2 แสดงข้อมูลการผลิตข้าวของนายชูเกียรติ สุพรรณคง ที่เก็บเกี่ยวเมื่อเดือนเมษายน 2552 จำนวน 4 แปลง มีทั้งชุดดินสระบุรีและพิมาย และมีค่าวิเคราะห์ เอ็น-พี-เค ในดินขณะนั้นแตกต่างกัน คำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” จึงแตกต่างกัน ทั้งสูตรปุ๋ย และปริมาณปุ๋ย
สรุปได้ว่า ในพื้นที่ 1 ไร่ (ถ่วงน้ำหนักด้วยขนาดของพื้นที่) ได้ผลผลิตข้าว 1,117 กก. (น้ำหนักสด) ใช้ปุ๋ยเคมี 22 กก. ค่าปุ๋ยเคมี 373 บาท มีต้นทุนการผลิต 2,944 บาท ขายข้าวเปลือกกิโลกรัมละ 10.81 บาท และได้กำไร 9,130 บาท
ตารางที่ 2 “ปุ๋ยสั่งตัด” กับการผลิตข้าวของนายชูเกียรติ สุพรรณคง
ตัวอย่างดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ในพื้นที่ปลูกข้าวเขตชลประทานภาคกลาง ถ้าเป็น “ชาวนามืออาชีพ” จะสามารถผลิตข้าวได้ไร่ละ 1,000 กก. (น้ำหนักสด) ใช้ปุ๋ยเคมีเพียงครึ่งหนึ่งของชาวนาทั่วๆ ไป มีต้นทุนการผลิตเพียง 3,000 บาทต่อไร่ และถ้าขายข้าวเปลือกในราคาเกวียนละ 10,000 บาท จะได้กำไรมากถึง 7,000 บาทต่อไร่
รัฐบาลจึงควรเร่งเสริมสร้างขีดความสามารถเกษตรกรให้เป็น “เกษตรกรมืออาชีพ” เมื่อเกษตรกรพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองได้ในชุมชน ก็จะช่วยรัฐบาลแก้ปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน
แต่ต้องเข้าใจร่วมกันว่า กว่าจะเป็น “เกษตรกรมืออาชีพ” ต้องใช้เวลา ทั้งเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องมุ่งดี มุ่งมั่น มีความเพียร และที่สำคัญสุดๆ ต้องมี “ความต่อเนื่อง”
กระทรวงเกษตรฯ ต้องจริงใจ มีแผนระยะยาว ทำงานติดดิน ถึงลูกถึงคน และลดโครงการประเภทสร้างความหวังลมๆ แล้งๆ ให้แก่เกษตรกร เพราะจะยิ่งทำให้เกษตรกรไม่คิดพึ่งตนเอง
ควรวางแผนยุทธศาสตร์ 10 ปี เท่ากับการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 เพื่อสร้าง “โอกาส” ให้เกษตรกรได้ “เรียนรู้” อย่างมีคุณภาพตลอดชีวิต เพราะ “คุณภาพ” ของเกษตรกร คือ “หัวใจ” ที่กำหนดความเป็นไปและอนาคตของการเกษตรไทย หรืออนาคตของประเทศไทยนั่นเอง
ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์
ผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการศึกษา
prateep.v@hotmail.com
โทร.081-3065373
หัวข้อที่เกี่ยวข้อง