ภาชนะหุงต้มที่เรียกว่า "หม้อ" ถ้ามีฝาหม้อและตัวหม้อเบอร์เดียวกัน จะปิดและเข้ากันได้สนิท "ฝาหม้อ" จะช่วยให้การหุงต้มสุกเร็ว เพราะไม่สูญเสียความร้อนระหว่างการหุงต้ม ป้องกันมิให้สิ่งสกปรกเชื้อโรคตกลงไปถูกอาหารในหม้อ อาหารจึงไม่บูดเน่าง่ายก่อนเวลาอันควร ฝาหม้อที่ปิดปากหม้อ มีปีกกว้างกว่าตัวหม้อปกคลุมแผ่ขยายล้นออกมาเหมือนหลังคาสองชั้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระมหากรุณาธิคุณแผ่บารมีปกเกล้าปกกระหม่อมพสกนิกรชาวไทยให้อยู่เย็นเป็นสุขทุกถ้วนหน้าเพราะพระองค์เป็นผู้ทรงธรรม ดังปรากฏในปฐมบรมราชโองการว่า "เราจักปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" มีพุทธภาษิตตรัสรับรองไว้ว่า "สัพพัมปิ รัฏฐัง สุขัง โหติ ราชา เจ โหติ ธัมมิโก ถ้าพระราชา เป็นผู้ทรงธรรมแล้วไซร้ ราษฎรทั้งปวงก็อยู่เป็นสุข"
ธรรมที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงในที่นี้ เรียกตามภาษาวัดว่า "ทศพิธราชธรรม" คือ ธรรม 10 ประการที่พระราชาทรงแล้ว ประสบความสำเร็จในพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ พสกนิกรรักใคร่ พสกนิกรอยู่เย็นเป็นสุข หรือเรียกว่า "หน้าที่ที่ทำให้ประสบความสำเร็จนำมา ซึ่งความยินดี 10 ประการ" ได้แก่
1. ทาน การให้ ความเอื้ออาทร
2. ศีล การไม่เบียดเบียนด้วยกาย วาจา
3. บริจาค การเสียสละสิ่งที่ชั่วร้ายที่เกิดขึ้นในใจทิ้งไป เพราะให้แก่ผู้ใดคงไม่มีผู้รับ เช่น ความเห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบเป็นต้น
4. อาชวัง ความซื่อตรงต่อหน้าที่ที่ตนเองรับผิดชอบ ดังเช่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงานหนักเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตพสกนิกรชาวไทยมากว่า 50 พรรษา
5. มัทวัง ความอ่อนโยน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ทรงรังเกียจว่าเป็นของโบราณ เมื่อทรงแนะนำแก่ชาวบ้านๆ สามารถนำไปใช้ได้
6. ตะปัง มีความเพียรเผากิเลส คือ ทรงมีความเพียรพยายามคิดค้น ทดลองวิธีการแก้ปัญหาให้แก่พสกนิกรอย่างต่อเนื่องยาวนานจนกว่า จะประสบความสำเร็จ เช่น โครงการตามพระราชดำริ เป็นต้น
7. อักโกธัง ความไม่โกรธ ไม่ทรงตั้งอยู่ในความไม่พอใจที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า "ไม่เลือกที่รักไม่มักที่ชัง" ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงพระราชทานอภัยโทษแก่บุคคลที่เคยหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
8. อวิหิงสา ไม่เบียดเบียน มีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จไปเยี่ยมให้ความช่วยเหลือพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า ทรงตั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ มูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ แก่พสกนิกรชาวไทยชั่วกาลนาน
9. ขันติ ความอดทน พระองค์มีพระวิริยะอุตสาหะทรงงานหนักไม่มีกลางวันกลางคืน "เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" โดยแท้
10. อวิโรธนัง การไม่ประพฤติผิดทำนองคลองธรรม เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ทรงธรรมจนเป็นที่เคารพบูชา ของชาวไทยและชาวต่างประเทศ และนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาแนะนำให้พสกนิกรชาวไทยปฏิบัติตามเพื่อความสงบร่มเย็นของพสกนิกรชาวไทยดังจะเห็นได้จากพระบรมราโชวาท 4 ประการที่พระราชทานในวันเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ 5 รอบ
อุปมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็น "ฝาหม้อ" อุไมยพวกเราพสกนิกรชาวไทย เครือข่ายชุมชนชาวชัยนาทและเพื่อนผู้ปรารถนาความสงบสุขความสำเร็จในชีวิตเป็น "ตัวหม้อ" ถ้าน้อมทศพิธราชธรรมที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงปฏิบัติจนได้ผลแล้วมาปฏิบัติที่ตัวเรา เราก็จะประสบความสงบสุขความสำเร็จในชีวิตเช่นเดียวกันกับพระองค์ท่าน ไม่เกิดอาการผิดฝาผิดตัว
ตั้งความปรารถนาไว้ว่า "ศูนย์ภูมิปัญญาชาวบ้าน" ของเครือข่ายชุมชนชาวชัยนาทและเพื่อน จะเป็นผู้น้อมนำ "ทศพิธราชธรรม" คือ ธรรม 10 ประการ ที่พระราชาทรงแล้วประสบความสำเร็จในพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ พสกนิกรรักใคร่ พสกนิกรอยู่เย็นเป็นสุข หรือหน้าที่ที่ถูกต้องแก่ความรอดทั้งทางกายและทางจิตทุกขั้นตอนของชีวิต ทั้งเพื่อตนเองและผู้อื่น ทำให้ประสบความสำเร็จนำมาซึ่งความยินดี 10 ประการ เป็นพลังขับเคลื่อนศูนย์ภูมิปัญญาชาวบ้านของเครือข่ายชุมชนชาวชัยนาทและเพื่อน อำนวยประโยชน์สุขแก่ครอบครัว สมาชิก สังคม ประเทศชาติ โดยมีพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และปฐมบรมราชโองการ "เราจักปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" ช่วยปกป้องคุ้มครองให้รอดพ้นจากภัยพิบัติอุปัทวันตรายทั้งปวง ประดุจดัง "ฝา-หม้อ" เบอร์เดียวกัน ช่วยให้การหุงต้ม สุกเร็วเพราะไม่สูญเสียความร้อนระหว่างการหุงต้ม ป้องกันมิให้สิ่งสกปรก เชื้อโรคตกลงไปถูกอาหารในหม้อ อาหารจึงไม่บูดเน่าง่ายก่อนเวลาอันควร
พระครูโกศลชัยพัฒน์
เจ้าอาวาสวัดหนองยาง ม.2 ต.สุขเดือนห้า อ.เนินขาม จ.ชัยนาท
***จากหนังสือ 4 ปีเวทีธุรกิจชุมชน เครือข่ายชุมชนชาวชัยนาทและเพื่อน เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2545