วิกฤติชาติ
ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาวิกฤติโดยรอบด้านเช่น ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ปัญหายากจน ปัญหายาเสพย์ติด ปัญหาการใช้ทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรมและไม่ยั่งยืน ปัญหาการขาดความยุติธรรมในสังคม ปัญหาการสูญเสียอธิปไตยทางเศรษฐกิจของชาติ
ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ซับซ้อนและยากต่อการแก้ไข ทั้งโครงสร้างวิธีคิด โครงสร้างอำนาจ โครงสร้างทางกฎหมาย โครงสร้างการศึกษา โครงสร้างทางการเงิน โครงสร้างทิศทางการพัฒนา โครงสร้างโลกาภิวัฒน์ และอิทธิพลของทุนข้ามชาติ
รัฐและสังคมไทยไม่มีพลังเพียงพอที่จะแก้ไขวิกฤติชาติ แต่ถ้าประเทศไทยแก้ปัญหาวิกฤติเหล่านี้ไม่ได้ วิกฤติการณ์จะทับทวีมากขึ้น และก่อให้เกิดความขัดแย่งรุนแรงขึ้นในสังคมไทย ทุนข้ามชาติจะรุกเข้าครอบงำประเทศไทยมากขึ้น ตั้งแต่สถาบันการเงินไปจนถึงการค้าปลีก การสูญเสียอธิปไตยทางเศรษฐกิจ จะนำไปสู่การครอบงำทางการเมือง ทางสังคม และทางวัฒนธรรม ทำให้คนไทยหมดความสามารถที่จะกำหนดอนาคตของตนเองและอาจสูญเสียความเป็นชาติ
จึงจำเป็นที่คนไทยทุกภาคส่วน ทั้งรัฐและสังคม จะรวมกำลังกันกำหนดยุทธศาสตร์แก้วิกฤติชาติ
ยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินแก้วิกฤติชาติ
คนแต่ละคน องค์กรแต่ละองค์กร หรือประเทศแต่ละประเทศต้องมีความสามารถพอที่จะกำหนดอนาคตของตนเองได้ เพื่อดำรงเป็นคน ความเป็นองค์กรหรือความเป็นประเทศที่มีศักดิ์ศรี และมีความเจริญรุ่งเรืองตามความต้องการของตนได้ หากประเทศของเราอ่อนแอจนถูกครอบงำ จากกระแสภายนอกหมด เราก็จะหมดศักดิ์ศรี ต้องกลิ้งหรือถูกกระทำไปตามเหตุปัจจัยที่เรากำหนดไม่ได้ สูญเสียความเป็นชาติ เกิดความขัดแย้งรุนแรงจนเสี่ยงต่อความสูญสลาย
กาลเวลาได้พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนแล้วว่า ลำพังอำนาจรัฐไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาวิกฤติชาติของชาติได้ จำเป็นที่ภาคสังคมหรือภาคประชาชนต้องผนึกกำลังกันเข้ามาร่วมแก้วิกฤติของชาติในปัญหาที่ยากและซับซ้อน ไม่มีอำนาจใดๆ จะแก้ปัญหาได้ นอกจากพลังอำนาจทางสังคม (social energy) หรือการเมืองของพลเมือง พลังอำนาจทางสังคมเกิดจากการ รวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำของคนไทยทั้งชาติ ในทุกพื้นที่ ทุกองค์กร และทุกเรื่อง ให้เป็นพลังแผ่นดินหรือภูมิพละ ต่อเมื่อแผ่นดินมีพลังด้วยการรวมตัวกันของคนไทยทั้งชาติจึงจะสามารถแก้ไขวิกฤติได้
พลังทางสังคมนี้ควรจะมีวิธีทำงานทั้ง 3 ด้าน คือ
- ลงมือทำเอง
- ร่วมกับรัฐ
- ตรวจสอบรัฐ
ในกระแสโลกาภิวัฒน์ ลำพังรัฐหรือสังคมฝ่ายใด ฝ่ายเดียวจะไม่มีพลังพอที่จะรักษาอธิปไตยทางเศรษฐกิจของชาติได้ ประชาชนและรัฐพึงผนึกกำลังกันเป็นพลังประชารัฐ ดังเนื้อความในเพลงชาติที่ว่า “….เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน…..” รัฐพึงส่งเสริมพลังทางสังคม และภาคสังคมพึงผนึกกำลังกับรัฐในการรักษาอธิปไตยทางเศรษฐกิจของชาติ
รัฐไม่พึงทอนพลังสังคม แต่ควรส่งเสริมให้คนไทยรวมตัวร่วมคิด ร่วมทำ และเข้ามามีบทบาทในการร่วมแก้วิกฤติของชาติ ความเป็นประชารัฐจะทำให้แผ่นดินมีพลังที่จะแก้ไขวิกฤติชาติได้
คนไทยกำหนดอนาคตของตนเอง
ถึงเวลาที่คนไทยควรกำหนดอนาคตของตนเองว่าเราต้องการสังคมเช่นใด
- จะเป็นสังคมตามกระแสโลกาภิวัฒน์ ที่เน้นการการแข่งขัน แย่งชิง ทอดทิ้ง เอาเปรียบ ทำลาย โดยกลไกตลาดของการค้าเสรีไร้พรมแดน โดยไม่คำนึงถึงความได้เปรียบเสียเปรียบ อันเกิดจากขนาดและความเข้มแข็งของคู่ค้า การแปรรูป รัฐวิสาหกิจ การลดบทบาทของภาครัฐ แต่ยอมให้ทุนข้ามชาติเข้าครอบงำเศรษฐกิจตั้งแต่สถาบันการเงินไปจนถึงการค้าปลีก
หรือ
- เป็นสังคมแห่งความสมานฉันท์และเอื้ออาทร มีพออยู่พอกิน และมีไมตรีจิตต่อกัน เน้นการพึ่งตนเองให้รากฐานของสังคมเข้มแข็ง และเติบโตอย่างได้ดุลยภาพบนพื้นฐานที่เข้มแข็ง ด้วยวุฒิภาวะทางปัญญาอย่างรอบด้านบนเส้นทางทางสายกลางโดยเน้นความสัมพันธ์อย่างเกื้อกูลกัน คือ
- มนุษย์ สังคม สิ่งแวดล้อมเกื้อกูลกัน
- กายกับใจเกื้อกูลกัน
- เศรษฐกิจชุมชนกับเศรษฐกิจมหภาคเกื้อกูลกัน
- ความสัมพันธ์ระหว่างต่างประเทศกับในประเทศเกื้อกูลกัน
การกำหนดอนาคตของตนเองไม่ใช่การแอนตี้ต่างชาติหรือแนวทางชาตินิยมที่มุ่งทำลายคนเชื้อชาติอื่นอย่างที่เข้าใจกันในตะวันตก แต่เน้นที่ความสัมพันธ์กับต่างประเทศอย่างได้ดุลยภาพและมีศักดิ์ศรีอะไรดีในกระแสโลก็เลือกสรรกลั่นกรองนำมาใช้ เพื่อการพัฒนาสังคมตามเป้าหมายที่คนไทยกำหนด
บุคคล องค์กร หรือประเทศควรมีความเข้มแข็งและสามารถกำหนดอนาคตของตนเองได้
ถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะร่วมกันกำหนดว่าเราต้องการสังคมเช่นใด
แก้ไขปัญหาวิกฤติของชาติเร่งด่วน 3 เรื่อง
แม้ประเทศไทยเผชิญวิฤกติชาติหลายเรื่อง ในที่นี้ขอเสนอให้พลังทางสังคมร่วมมือกันแก้ไขปัญหาวิกฤติเร่งด่วน 3 เรื่อง คือ
1. ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ
2. ปัญหาวิกฤติคอรัปชั่น
3. ปัญหาวิกฤติเรื่องความยากจน
โดยรวมพลังพุ่งเป้าไปสู่การแก้ปัญหาใหญ่ 3 เรื่องนี้เป็นหัวหอกเชื่องโยงไปสู่การแก้ปัญหาอื่นๆ แลใช้การ่วมมือกันแก้ปัญหาอื่นๆ พุ่งเป้ามาสู่การแก้ปัญหาวิกฤติชาติเร่งด่วน 3 ประการนี้
สภาพปัญหาทั้ง 3 ปัญหา
(1) ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ
ที่จริงคนจนจะประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจมานาน ต่อมาเมื่อเร็วๆ นี้ ได้เกิดวิฤกติเศรษฐกิจการเงินที่กระทบคนชั้นบนและคนชั้นกลาง ตลอดจนสถาบันการเงินอย่างรุนแรงจนเกิดความล่มสลายของสถาบันการเงินและภาคธุรกิจถูกทุนข้ามชาติเข้ามายึดครองเศรษฐกิจตั้งแต่สถาบันการเงินจนถึงการค้าปลีก มีหนี้สินกับต่างประเทศเหลือล้นพ้นตัว เพราะแนวทางการพัฒนา และแก้ปัญหาที่ผิดพลาด คือ
1. ทำลายฐานของสังคมให้อ่อนแอ โดยการริบของรายย่อยจำนวนมากไปให้รายใหญ่จำนวนน้อย ทั้งทรัพยากรในการ ทำมาหากิน เพื่อเศรษฐกิจพอเพียงของคนจนเช่น ที่ดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำ และวิธีการทำมาหากินตามวัฒนธรรม เช่น การเกษตร ผสมผสาน ทำให้เกิดการทำลายฐานของสังคม ฐานทางสังคมคือ ความเข้มแข็งของชุมชน ฐานของสิ่งแวดล้อม และฐานทาง วัฒนธรรม เมื่อฐานของสังคมอ่อนแอย่อมทำให้สังคมทั้งหมดมทรุดตัวลงล่มสลายได้ง่ายไม่ยั่งยืน
2. ทำอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงานราคาถูกและขาดการพัฒนาคน เมื่อชนบทล่มสลายเพราะเมื่อข้อ 1 ข้างต้น ก็เกิดการทะลักของคนชนบทมาเป็นแรงงานราคาถูก อุตสาหกรรมก็รื่นรมย์กับการใช้แรงงานราคาถูกกว่า อุตสาหกรรมก็ย้ายออกไปหาแรงงานที่ราคาถูกกว่า อุตสาหกรรมที่ขาดการพัฒนาคนของเราก็ต้องล่มสลายลง
3. กู้เงินต่างประเทศมากินดอกเบี้ยอาศัยความแตกต่างระหว่างอัตรดอกบี้ยของต่างประเทศที่ต่ำมากกับของไทยที่สูงมาก มีการกู้เงินจากต่างประเทศจำนวนมโหฬารมาฝากกินดอกเบี้ย โดยไม่ต้องทำอะไร แต่เนื่องจากเงินที่กู้ไม่ได้สร้างเศรษฐกิจที่แท้ จึงเกิดเศรษฐกิจปลอมหรือเศรษฐกิจฟองสบู่ ความเทียมไม่จีรังยั่งยืนค่าเงินจึงลดลง แต่กลัวเสียประโยชน์ของผู้กู้ ก็เอาเงิน ทุนสำรองระหว่างประเทศไปต่อสู้เพื่อพยุงค่าเงิน ทำให้เงินไหลออกนอกประเทศไทยจำนวนมหาศาล แต่ก็พยุงไม่อยู่ ค่าเงินบาท ลดลงไปแตะ 50 บาท ต่อดอลลาร์ ทำให้เศรษฐกิจไทยล่มสลายอย่างรุนแรง ทั้งนี้โดยกลไกการควบคุมระบบการเงินของประเทศขาดสมรรถภาพ
4. เปิดเสรีทางการเงินเร็วเกินท่ามกลางความอ่อนแอของประเทศ การเปิดเสรีทางการเงินเร็วย่อมทำให้ประเทศไทย เสียเปรียบ ประเทศที่มีทุนมากกว่าและเข้มแข็งกว่าย่อมดูดเงินของเราไปได้มากกว่าที่จะไปดูดเขา จึงเกิดเหตุการณ์ ตามข้อ 3 ข้างต้น
5. เมื่อวิกฤติแล้วยังแก้ผิดทาง เมื่อวิกฤติประดุจคนไข้หนัก ชอบที่จะบำรุงกำลังให้ฟื้นตัว รัฐบาลกลับเอาใจต่างชาติกดดันคนไทยให้รีบชำระหนี้ แทนที่จะมุ่งส่งเสริมสร้างเศรษฐกิจที่แท้ บีบบังคับให้เลหลังขายทรัพย์สมบัติให้ต่างชาติด้วยราคาถูกน่าละลาย และยิ่งเปิดเสรีให้ทุนข้ามชาติเข้ามาซื้อกิจการของไทย ตั้งแต่สถาบันการเงินไปจนถึงการค้าปลีก และยอมออกกฎหมาย 11 ฉบับ เพื่อเอื้ออำนวยให้ทุนข้ามชาติเข้ามายึดครองเศรษฐกิจไทยได้สะดวกขึ้น ถ้าต่างชาติสามารถบีบบังคับให้เราออกกฏหมายเพื่ออำนวยความสะดวกให้ต่างชาติเข้ามายึดครองเศรษฐกิจของเราได้โดยสะดวก ก็เท่ากับเราสูญเสียอธิปไตยทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรงอย่างยิ่ง และจะมีผลกระทบต่อไปอย่างกว้างขวางยาวไกล ซึ่งก็เริ่มเห็นแล้วว่าทุนข้ามชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจขนาดใหญ่กำลังทำลายการค้าย่อยของคนไทยในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งสมาคมหอการค้าจังหวัดกำลังประสบความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง
ความอ่อนแอภายในของเราเองกับการเปิดเสรีทางการค้า และการเงินเร็วเกิน โดยปราศจากกลไกการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจอย่างรุนแรงอย่างที่ไม่เคยมาก่อน
(2) ปัญหาวิกฤติคอรัปชั่น
คอรัปชั่น คือ มะเร็งร้ายที่กำลังบ่อนทำลายประเทศไทย
บัดนี้ได้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าประเทศไทยกำลังป่วยหนักด้วยโรคคอรัปชั่น คอรัปชั่นได้ระบาดหนักตั้งแต่การรีดไถพ่อค้าแม่ค้า จักรยานยนต์รับจ้าง การกินสินบาทคาดสินบน การซื้อขายตำแหน่งการผูกขาดและฉ้อฉลในโครงการหรืองานขนาดใหญ่ อันมีมูลค่าเป็นหมื่นเป็นแสนล้านบาท ข้าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวงหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ในสมัยรัฐมนตรีว่าการคนหนึ่งมีการเรียก เงินจากการแต่งตั้งข้าราชการทุกตำแหน่ง แม้แต่ตำแหน่งผู้อำนวยการ นักวิจัยผู้หนึ่งเล่าให้ฟังว่ากำลังมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ตั้งราคากันไว้ 45,000 ล้านบาท กะว่าจะสร้างจริงๆ 25,000 ล้านบาท เหลืออีก 20,000 ล้านบาท เอาไปแบ่งกันฝ่ายละหนึ่งหมื่นล้านบาท เป็นต้น กิจการโทรคมนาคมมีมูลค่าหลายแสนล้านบาท ถ้ามีการผูกขาดประชาชนก็จะเสียหายยับเยินทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และชีวิต เพราะราคาที่แพงจะเข้าไปเพิ่มต้นทุนสินค้าและบริการทุกชนิด การได้เปอร์เซ็นต์จากการขายรัฐวิสาหกิจมูลค่าหลายล้านบาท ถ้าคิดตรงไปตรงมา 3% ก็เป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท โดยยังไม่นับเงินกินใต้โต๊ะ
คอรัปชั่นที่แพร่หลายในประเทศไทยก่อให้เกิดผลเสียหายใหญ่อย่างน้อย 4 ประการด้วยกันคือ
1. ความเสียหายทางเศรษฐกิจคอรัปชั่นจะไปเพิ่มต้นทุนของการค้าขายและอุตสาหกรรมทุกชนิด ทำให้ประชาชนต้องจ่ายมากขึ้น และจะกระทบการแข่งขันทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ยาก และคนจนไม่หายจนหรือจนมากขึ้น และถ้าคอรัปชั่นไป เกี่ยวข้องกับสถาบันทางการเงิน อาจทำให้การเงินของประเทศล้มละลาย
2. ทำลายสมรรถนะของประเทศในกระทรวงต่างๆ คนมีความรู้ความสามารถและสุจริตจะถูกเบียดแทรกด้วยข้าราชการ ที่คบค้าอิทธิพลและร่วมมือฉ้อฉลคอรัปชั่น ถ้าคอรัปชั่นยังดำเนินต่อไปกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ จะอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ คนคอรัปชั่นจะขึ้นมามีอำนาจ แต่ขาดความรู้ ความสามารถ และความตั้งใจที่จะทำงานที่จะคุ้มครองประโยชน์ของประเทศ และประชาชนและทำให้บ้านเมืองวิกฤติมากขึ้นทุกๆ ทาง เพราะระบบงานล้มเหลวหมดทั้งประเทศ
3. ทำลายศีลธรรมและจิตวิญญาณของความเป็นคนไทย ถ้าการฉ้อฉลคอรัปชั่นยังคงดำเนินต่อไปขนาดนี้ แบบที่เรียกว่า โกงแล้วรวย รวยแล้วมีคนนับถือ ได้รับการยกย่อง คนก็อยากจะโกงกันมากขึ้น อนุชนคนรุ่นหลังก็จะเอาอย่าง ศีลธรรม และความดีงามหรือจิตวิญญาณก็จะตกต่ำ ประเทศที่ไร้ศลีธรรมจะมีความสุขไม่ได้หนักเข้าจะเกิดความระสำระส่ายและจลาจล
4. ทำลายเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นคนไทย องค์การโปร่งใสนานาชาติ (Ttransparency International) ได้จัดประเทศไทยติดอันดับเรื่องปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นเป็นอันดับที่ 68 จาก 99 ประเทศ (ตัวเลขมากแสดงว่าทุจริตคอรัปชั่นมาก) ซึ่งแสดงว่าฐานะของประเทศไทยอยู่ท้ายๆ ในเรื่องความสุจริต การสำรวจตรวจตราโดยองค์การนานาชาติจะทำมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราติดอันดับโหล่ๆ อยู่เรื่อย หรือตกไปอีก โลกก็จะตราหน้าว่าคนไทยขี้โกง ประเทศไทยขี้โกงเป็นที่เสื่อมเสียเกียรติคุณภูมิของความเป็นคนไทยและประเทศไทย
เกียรติและศักดิ์ศรีเป็นเรื่องสำคัญสำหรับความเป็นคน
ถ้าเราเป็นคนไม่มีเกียรติไม่มีศักดิ์ศรีเราจะดำรงความเป็นคนอยู่ได้อย่างไร
ถึงเวลาแล้วที่คนไทยทุกคนจะต้องลุกขึ้นสู้เพื่อเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นคนไทย
(3) ปัญหาวิกฤติเรื่องความยากจนและการแย่งทรัพยากรในชนบท ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขจะนำไปสู่ความรุนแรงในบ้านเมือง
ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาเรื้อรังที่แก้ไขไม่สำเร็จและเชื่อมโยงไปสู่ปัญหาอื่นๆ เช่น ความแตกสลายของครอบครัว ความแตกสลายของชุมชน ปัญหาการย้ายถิ่นฐาน การเพิ่มขึ้นของคนจนเมือง ปัญหาโสเภณี ยาเสพย์ติด โรคเอดส์ ถ้าแก้ความยากจนไม่ได้บ้านเมืองจะเจริญไม่ได้ จะมีความขัดแย้งและนำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด
ที่แก้ปัญหาความยากจนไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดๆ เพราะสังคมไทยมีทิฐิที่ผิดเกี่ยวกับคนจน นั่นคือ คิดว่าความ ยากจนเกิดจากปัญหาของคนจนที่เรียกว่า “โง่-จน-เจ็บ” แท้ที่จริงความยากจนเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น โครงสร้างทางกฎหมาย โครงสร้างทางการใช้ทรัพยากร โครงสร้างทางการศึกษา และโครงการทิศทางการพัฒนา เป็นต้น ที่ทำให้คนจนจนและ ไม่หายจนตราบใดที่ยังไม่แก้ไขโครงสร้าง การที่จะแก้ไขความยากจนได้ต้องแก้ทิฐิ และแก้ไขโครงสร้างที่ทำให้คนจนจน
ยุทธศาสตร์และมาตรการแก้วิกฤติชาติ
ข้อเสนอ แนวทาง และมาตรการใช้ยุทธศาสตร์พลังทางสังคมในการแก้ไขวิกฤติชาติ 3 ประการ ดังกล่าวข้างต้นดังต่อไปนี้
(1) มาตรการในการแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ชะลอการเปิดเสรีทางธุรกิจ คุ้มครองเศรษฐกิจของไทย และสร้างความเข้มแข็งภายในดังนี้
1. เรียกร้องและติดตามให้พรรคการเมืองมีนโยบายเว้นวรรค WTO (องค์การการค้าโลก) นั่นคือ เจรจากับองค์การการค้าโลก เพื่อยืดตารางเวลาในการปฏิบัติตามเงื่อนไขการเปิดเสรีทางธุรกิจเพิ่มขึ้นออกไปก่อน ให้สอดคล้องกับสภาวะวิกฤติเศรษฐกิจประเทศ
2. เรียกร้องและติดตามให้พรรคการเมืองมีนโยบายขอประชามติจากประชาชน เพื่อทบทวนยกเลิกและแก้ไขกฎหมาย 11 ฉบับ ที่เอื้ออำนวยความสะดวกแก่ทุนข้ามชาติให้เข้ามาซื้อหาจับจองและยึดครองเศรษฐกิจไทยในส่วนที่ทำให้ไทยเสียเปรียบ
3. ทบทวนยกเลิกกฎหมายโลกานุวัตรที่ทำให้สูญเสียอธิปไตยทางเศรษฐกิจ
4. เรียกร้องให้พรรคการเมืองเลิกนโยบายการขายธนาคารและรัฐวิสาหกิจ สาธารณูปโภคให้กับต่างประเทศ
5. ปฏิรูปธนาคารแห่งประเทศไทยให้เป็นอิสระ และมีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมการเคลื่อนไหวของเงินให้ถูกต้องและเอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย
6. ส่งเสริมให้เศรษฐกิจมหภาคกับเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจพื้นฐาน และคุ้มครองธุรกิจรายย่อยของคนไทย
7. ส่งเสริมให้เศรษฐกิจมหภาคกับเศรษฐกิจพอเพียงเชื่อมโยงกันอย่างเกื้อกูล เพื่อให้การตลาดและการส่งออกอยู่บนพื้นฐานที่เข้มแข็ง
8. การตัดสินใจในทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ และการนำประเทศเข้าไปสู่พันธสัญญาทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศต้องได้รับการตรวจสอบจากประชาชน
(2) มาตรการในการแก้ไขปัญหาวิกฤติเรื่องคอรัปชั่น
ประเทศไทยต้องถือเรื่องการถอนรากถอนโคนคอรัปชั่นเป็นวาระแห่งชาติที่จะต้องทำให้สำเรจโดยสร้างระบบควบคุมปัองกันและขจัดคอรัปชั่นครบวงจร 10 ประการดังนี้
1. รณรงค์สร้างจิตสำนึกต่อต้านคอรัปชั่นโดยทั่วถึงทั้งชาติอย่างต่อเนื่อง
2. ส่งเสริมสนับสนุนให้ทำการวิจัยเพื่อทำแผนที่คอรัปชั่น (mapping) ว่า คอรัปชั่นทำกันอย่างไร ที่ไหน พลิกแพลงไปอย่างไรแล้ว เพื่อให้สาธารณะรับรู้และเฝ้าระวังได้ถูกต้อง
3. สร้างระบบการรับแจ้งเบาะแสข้อมูลคอรัปชั่นที่มีการคุ้มครองผู้แจ้ง
4. ต้องกองทุนสนับสนุนการวิจัยสืบสวนคอรัปชั่นเพื่อสนับสนุนให้เจ้าพนักงาน นักวิชาการ และสื่อมวลชนสามารถทำการวิจัยสืบสวนคอรัปชั่นอย่างเข้มแข็ง ผลการวิจัยสอบสวนหาหลักฐานคอรัปชั่นที่แม่นยำและนำมาเปิดเปเผยต่อสาธารณะ จะสามารถหยุดยั้งการคอรัปชั่นได้
5. เสริมกำลังองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบคอรัปชั่น เช่น ป.ป.ช. และ สตง. ให้มีเขี้ยวเล็บมากขึ้น
6. ปฏิรูประบบรัฐจากการใช้อำนาจซึ่งทำให้ฉ้อฉลโกงกิน ยิ่งอำนาจมากยิ่งฉ้อฉลโกงกินมากไปเป็นการมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ซึ่งตรวจสอบได้
7. ทบทวนแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบ กติกา และกลไกใดๆ ที่เอื้ออำนวยให้มีการคอรัปชั่นได้ง่าย
8. ให้การปฎิบัติหน้าที่ของรัฐมีความโปร่งใส่ทุกขั้นตอน สังคมเข้ามาตรวจสอบได้
9. ปรับปรุงทิศทางการพัฒนาที่เน้นวัตถุนิยม บริโภคนิยม อันทำให้เสื่อมเสียศีลธรรมและเกิดคอรัปชั่นเต็มแผ่นดินไปสู่การพัฒนาที่มีจิตสำนึกทางศีลธรรม
10. สังคมควรรวมตัวกันให้เข้มแข็งและรัฐพึงส่งเสริมความเข้มแข็งของสังคม เพื่อเข้ามาตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ
(3) มาตรการในการแก้ไขปัญหาวิกฤติเรื่องความยากจน
1. รณรงค์สร้างความรู้ที่ถูกต้องว่าความยากจนเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างมีการวิเคราะห์ว่ามีโครงสร้างอะไรบ้าง ที่ทำให้คนจนเสียเปรียบและจน แล้วจัดการแก้ไขโครงสร้างนั้นๆ
2. ทบทวนกฎหมายทั้งหมดที่ทำให้คนจนเสียเปรียบและทำการไข ควรมีมาตรการปกป้องคุ้มครองธุรกิจย่อยของคนไทย
3. ปฏิรูปการใช้ทรัพยากร เช่น ที่ดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำ ให้เป็นธรรม และให้เป็นประโยชน์ต่อคนจนในการสร้างเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืน
4. ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ให้สามารถกำหนดอนาคตของตนเอง ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งสุขภาพ
5. ปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบให้เข้าใจ และส่งเสริมความเข้าใจ และส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น
6. ส่งเสริมให้สื่อเป็นประโยชน์ต่อคนจนและชุมชนท้องถิ่นมากที่สุด ควรมีวิทยุชมชนอย่างทั่วถึง
7. ส่งเสริมเศรษฐกิจมหภาคกับเศรษฐกิจพอเพียงให้เชื่อมโยงกันอย่างเกื้อกูล
8. หากมีความจำเป็นให้มีการออก “พระราชบัญญัติเศรษฐกิจพอพียง” เพื่อเป็นเครื่องมือในการดำเนินการตามแนวทางและมาตรการดังกล่าวข้างต้น
ข้อเสนอแนะ
1. ขอให้คนไทยในทุกองค์กรและเครือข่ายที่สนใจ พิจารณาข้อเสนอยุทธศาสตร์แก้วิกฤติชาติที่นำเสนอนี้ หากเห็นด้วย ประกาศสนับสนุนยุทธศาสตร์แก้วิกฤติชาติที่นำเสนอนี้
2. คนไทยควรรวมตัวร่วมคิด ร่วมทำในทุกพื้นที่ และทุกองค์กร เพื่อเป็นพลังแผ่นดินในการกำหนดอนาคตของไทยเองสร้างภาพลักษณ์ของสังคมไทยที่เราต้องการ และพุ่งเป้าแก้ไขปัญหาวิกฤติเร่งด่วน 3 เรื่อง คือ ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ปัญหาคอรัปชั่น ปัญหาวิกฤติความยากจน ดังกล่าวข้างต้น
3. รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเป็นพลังทางสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้วิกฤติชาติ เพราะลำพังภาครัฐไม่สามารถแก้วิกฤติชาติได้ ความร่วมมือระหว่างประชาชนกับรัฐเป็นประชารัฐ จึงจะมีพลังพอที่จะรักษาอธิปไตยของชาติได้
4. ประชาชนควรรวมตัวกันเรียกร้องให้พรรคการเมืองมีนโยบายที่จะแก้ปัญหาวิกฤติชาติอย่างจริงจัง ควรถามพรรคการเมืองว่าเห็นด้วยกับยุทธศาสตร์แก้วิกฤติชาติตามที่เสนอนี้หรือไม่ และประกาศให้ทราบทั่วกัน
5. พรรคการเมืองที่จัดตั้งรัฐบาลควรนำยุทธศาสตร์ พลังสังคมวิกฤติชาติไปเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ อาจพิจารณาออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี เรื่องยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเพื่อแก้วิกฤติชาติ เพื่อให้คนไทยรวมตัวกันแก้ไขวิกฤติชาติ
6. ไม่ว่าทางการเมืองจะตอบสนองต่อยุทธศาสตร์แก้วิกฤติชาตินี้หรือไม่ คนไทยรวมตัวกันเป็นเครือข่ายประชาคมทั้งในระดับชุมชน ระดับท้องถิ่น และระดับชาติ และเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายทั่วประเทศ มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาวิกฤติต่างๆ ทั้งใน รูปแบบลงมือทำเองในส่วนที่ทำได้มากที่สุด ร่วมมือกับรัฐในการรักษาอธิปไตยของชาติ และในการแก้ไขวิกฤติชาติในเรื่องอื่น รวมทั้งทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐด้วย
ต่อเมือคนไทยรวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำกันทั้งชาติในทุกพื้นที่ ทุกองค์กรและทุกเรื่อง จึงจะเป็นพลังทางสังคมและพลังแผ่นดินที่พอเพียงต่อการแก้วิกฤติชาติได้
ประเวศ วะสี, นิธิ เอียวศรีวงศ์, รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, โสภณ สุภาพงษ์,
เสกสรร ประเสริฐกุล, ณรงค์ โชควัฒนา, ชัยอนันต์ สมุทวานิช, บวรศักดิ์ อุวรรณโณ
* เรียบเรียงจาก สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 47 ฉบับที่ 25
วันอาทิตย์ที่ 19 – วันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 หน้าที่ 14 - 16