“ความพอเพียงในระดับครอบครัว คือบ้านที่ประกอบด้วยพ่อแม่ลูกทำมาหากินร่วมกัน เพื่อให้มีอาหารเพียงพอต่อการดำเนินชีวิต และขยายไปในระดับหมู่บ้าน มีการปลูกข้าว ปลูกผัก เลี้ยงไก่ ทอผ้า มีการแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งกันและกัน…ความพอเพียงก็จะเกิดขึ้นในประเทศ และช่วยลดการนำเข้าได้”
หากถามว่า สถาบันการเงินจะเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างไร ก็ต้องตอบว่าเรากำลังดำเนินการอยู่ ภายใต้โครงการที่เรียกว่า “เอสซีบีคลับ” ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน เพราะธนาคารพยายามศึกษาว่าลูกค้าต้องการสินค้าอะไรบ้างจากธนาคาร และทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการในชีวิตประจำวันของมนุษย์
“เอสซีบีคลับ” เป็นโครงการที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจของเมืองกับชนบทเข้าด้วยกัน เพราะเจ้าของกิจการก็ไม่มั่นใจว่า ผลิตสินค้าออกมาแล้วจะมีคนซื้อหรือไม่ ส่วนธนาคารที่ต้องการปล่อยสินเชื่อก็ไม่เชื่อมั่นว่า ถ้าปล่อยสินเชื่อให้แล้วจะกลายเป็นหนี้เสียหรือไม่ และผู้บริโภคเองก็ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอยเนื่องจากวิกฤติที่เกิดขึ้น ทำให้มีการเลิกจ้างมากขึ้น เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลมีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อก่อให้เกิดการบริโภคมากขึ้น ภายหลังการปล่อยค่าเงินบาทลอยตัว ทุกคนก็พูดถึงเรื่องการส่งออกว่า จะเป็นตัวกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น แต่สำหรับภาวะปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินทั่วภูมิภาค และค่านิยมของแต่ละประเทศต่างลดการใช้จ่ายลง ทำให้เราไม่สามารถคาดหวังกับการส่งออกได้มากนัก
ขณะที่การลงทุนของเอกชนในครึ่งแรกของปี 2541 ลดลงกว่า 45% และการใช้จ่ายของภาครัฐบาลภายใต้การขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่วางกรอบอย่างชัดเจนว่า ต้องลดการใช้จ่ายของภาครัฐ เพื่อลดปัญหาการขาดดุล นโยบายการตรึงอัตราดอกเบี้ยสูง และการปฏิรูประบบสถาบันการเงินอย่างเข้มข้น โดยการเร่งดำเนินการเพิ่มทุน และกันทุนสำรองตามมาตรฐานสากล ทำให้สถาบันการเงินไม่กล้าที่จะขยายสินเชื่อเพิ่มมากนัก
ปัญหาที่เวียนเป็นลูกโซ่ดังกล่าวทำให้การอุปโภคบริโภคในประเทศลดลง จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขและสร้างกำลังซื้อภายในประเทศมากขึ้น โดยความร่วมมือระหว่างธนาคารพาณิชย์ และผู้ประกอบการผลิต เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้มีมากขึ้นซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงาน และเศรษฐกิจของประเทศให้มากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงาน และเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวตามมา
“เอสซีบีคลับ” จึงได้ถูกจุดประเด็นขึ้นมา ให้ธนาคารทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการ 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่ 1 ผู้ผลิตสินค้าขั้นสุดท้าย เช่น สินถ้าอุปโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ ยารักษาโรค ฯลฯ ที่มีอยู่ประมาณ 100 บริษัท กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มผู้ประกอบการที่นำวัตถุดิบมาเพื่อการผลิตสินค้า เช่น โรงงานน้ำตาล โรงงานกระดาษ เป็นต้น ลูกค้ากลุ่มนี้จะมีอยู่ราว 200 ราย ส่วนกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มผู้ประกอบการผลิตวัตถุดิบ เช่น ชาวไร่ อ้อย บริษัทผู้ผลิตวัตถุดิบพลาสติก เป็นต้น กลุ่มนี้มีประมาณ 50 บริษัท
ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องแจ้งข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับโครงการทางต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของบริษัทมายังธนาคาร ทั้งในส่วนของค่าใช่จ่ายการผลิต ว่าบริษัทต้องผลิตอย่างไร และยังมีเงือนไขว่าบริษัทที่เข้าโครงการต้องมีการจ้างงานเพิ่มและจ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงงานบางส่วนในรูปของคูปอง ขณะนี้ธนาคารได้มีการสำรวจการใช้จ่ายเงินของพนักงาน เพื่อประเมินสัดส่วนว่าธนาคารต้องจ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงานในรูปของเงินสด และคูปอง ในสัดส่วนเท่าใด และผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการก็ได้มีการออกแบบสำรวจค่าใช้จ่ายของพนักงานบริษัท เพื่อสรุปว่าจะจ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงานในรูปของคูปองเท่าใด โดยคูปองที่ธนาคารกับผู้ประกอบการใช้ร่วมกันจะมีลักษณะเป็นอิเล็กทรอนิกส์คูปอง คล้ายกับเดบิทการ์ด แบ่งออกเป็น 3 ช่องคือ ช่องเงินสด ช่องอิเล็กทรอนิกส์คูปอง และช่องโบนัส ผู้ถือบัตรสามารถนำคูปองไปจับจ่ายใช้สอยตามตู้รับคูปองที่ติดตั้งตามร้านค้าบริษัทสมาชิกได้ และจะได้รับสิทธิพิเศษในการซื้อสินค้ามากกว่าบุคคลทั่วไป ทั้งในส่วนของการลดแลกแจกแถม ระบบต่างๆ จะพัฒนาเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2541 โดยมีบริษัทมาสเตอร์การ์ด เป็นผู้วางระบบจะเปิดให้บริการสมาชิกได้ภายในต้นปี 2542 จะมีสมาชิกใช้จ่ายผ่านคูปองประมาณ 100,000 ใบ
แนวคิดการแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการพึ่งพาตัวเองไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในหมู่ของผู้บริหารบริษัทขนาดใหญ่ หรือซิอิโอ ฟอร์ม ได้มีแนวคิดที่สอดคล้องกันตั้งแต่ 1 ปีที่แล้ว เพื่อที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยด้วยการพึ่งพาตัวเอง โดยไม่ต้องรอเงินฝรั่งเข้ามา
โครงการเอสซีบีคลับ เป็นแนวคิดที่ประยุกต์จากแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ที่ชื่อ KENS ที่เสนอแนวคิดแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำด้วยการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ประชาชน โดยเขาได้เสนอให้ทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำด้วยการจัดจ้างคนที่ตกงาน สร้างกำลังซื้อเพิ่มขึ้น KENS ได้เสนอให้รัฐมนตรีคลังของอังกฤษ จ้างคนที่กำลังตกงานขุดท่อหน้ากระทรวงการคลัง โดยให้ค่าจ้างวันละ 50 ปอนด์ต่อวัน ให้แบงก์ชาติพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม หลังจากขุดเสร็จตอนค่ำก็สั่งให้คนงานฝังกลบหลุมที่ขุด ทำให้อาจดูคล้ายกับว่าไม่ได้สร้างผลผลิตอะไรขึ้นมาเลย แต่ผลที่เกิดขึ้นต่อเนื่องก็คือ เกิดกำลังซื้อเพิ่มขึ้นจากที่คนมีงาน มีเงินจับจ่ายใช้สอยส่วนร้านค้าที่เคยตบยุง ขายของไม่ได้ ก็ขายของได้
ข้อสรุปที่ได้ก็คือ เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำต้องใช้รัฐบาลเป็นคนกระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าจำเป็นก็ต้องพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม แต่ประเทศไทยคงทำไม่ได้ เนื่องจากต้องปฏิบัติตามกรอบของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
ดังนั้น ในส่วนของภาคสถาบันการเงินการธนาคาร การปรับตัวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงก็คือ การที่เราพึ่งพากันเองให้มากที่สุด โดยเชื่อมโยงกันตั้งแต่ระดับครอบครัว หมู่บ้าน ตัวเมือง จนถึงขั้นสุดท้ายคือเศรษฐกิจพอเพียงระดับประเทศ ความพอเพียงในระดับครอบครัวคือ บ้านที่ประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก ทำมาหากินร่วมกัน เมื่อมีอาหารพอเพียงต่อการดำเนินชีวิต และขยายไปสู่ระดับหมู่บ้าน ก็มีการปลูกข้าว ปลูกผัก เลี้ยงไก่ ทอผ้า เป็นต้น มีการแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งกันและกันและอาจไม่จำเป็นต้องมีสตางค์ก็ได้ หากมีการแลกเปลี่ยนกัน นี่คือความพอเพียงระดับหมู่บ้าน
ความพอเพียงในระดับเมืองและระดับชนบท ก็จะเชื่อมโยงกันทั้งในด้านเกษตร อุตสาหกรรม การขนส่งและเครื่องจักร และนำไปสู่ขั้นตอนสุดท้ายคือ เศรษฐกิจพอเพียงระดับประเทศที่เป็นการผสมผสานระหว่างเกษตร ที่มีประชากรกว่า 60% ของประเทศ และภาคเมือง 40% ที่มีการทำอุตสาหกรรม และการให้บริการทั้งด้านการเงินและขนส่ง หากมีการแลกซื้อสินค้าร่วมกัน ความพอเพียงก็จะเกิดขึ้นกับประเทศ และช่วยลดการนำเข้าได้
โอฬาร ไชยประวัติ
กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด
***จากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับครบรอบ 2 ปี วันที่ 21 ตุลาคม 2541