การพัฒนาไม่ใช่การแก้ปัญหา
ผู้รู้หรือกุรุกล่าวไว้ ซึ่งอาจทำให้หลายท่านงง เพราะเราคุ้นเคยอยู่กับว่า การพัฒนาคือการแก้ปัญหาโน่นปัญหานี่
ปัญหาต่างๆ มีรากยาวไกลและมีคนเกี่ยวข้องมากมาย ทำให้แก้ไขได้ยากหรือแก้ไม่ได้ และยิ่งแก้ยิ่งทะเลาะกันมากขึ้น เพราะคนที่เกี่ยวข้องจะโทษกันไปโทษกันมา
ที่มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อครั้งที่อาจารย์หมอณัฐ ภมรประวัติ เป็นอธิการบดี ท่านอยากให้มีเครือข่ายวิชาการในเรื่องต่างๆ มีอยู่เครือข่ายหนึ่ง เมื่อประชุมครั้งแรกประธานก็ถามขึ้นว่า "ใครคิดว่ามีปัญหาอะไรบ้าง" ผู้ร่วมประชุมก็พูดถึงปัญหากันใหญ่ สักพักหนึ่งปัญหาก็ท่วมท้นทับถม และโทษกันจนเคลื่อนต่อไม่ได้ เครือข่ายวิชาการนั้นก็ล้มไป
หลายปีมาแล้วผู้เขียนไปร่วมประชุมประชาคมขอนแก่น มีผู้บอกว่าเขาจะทำวิจัยว่า "ทำไมประชาคมขอนแก่นจึงไม่ค่อยเกิด" ผู้เขียนห้ามว่าอย่าไปทำแบบนั้นเลย เพราะทำไปๆ จะทะเลาะกันมากขึ้น เนื่องจากจะโทษกันไปมาว่าที่ไม่เกิดเพราะคนนั้น เพราะคนนี้ เพราะคนโน้น สู้ไปวิจัยว่ามีอะไรดีๆ เกิดขึ้นในจังหวัดขอนแก่นบ้าง ยิ่งทำยิ่งพบความดีก็จะมีกำลังมากขึ้น
ประเทศก็เช่นเดียวกันถ้าหมกมุ่น (Obsessed) อยู่กับการแก้ปัญหา ปัญหามันยากๆ ทั้งสิ้น นอกจากแก้ไม่ได้แล้วยังทะเลาะกันมากขึ้น หนักเข้าก็ติดอยู่ในกับดักของการแก้ปัญหา ไม่มีทางเคลื่อนไปสู่อนาคตได้
ผู้เขียนไม่ได้หมายความว่าไม่พยายามแก้ปัญหา แต่อย่าไปทุ่มหรือหมกมุ่นจนหมดตัว แล้วติดอยู่กับวิกฤตการณ์อันเป็นปัญหาของอดีตและปัจจุบัน จนมองอนาคตไม่เห็น ควรจะใช้อนาคตมาดึงเราออกจากวิกฤตการณ์ปัจจุบัน
อนาคตยังไม่เกิดจะมีพลังมาฉุดเราออกจากปัจจุบันได้อย่างไร
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าวว่า "จินตนาการสำคัญกว่าความรู้" เพราะความรู้มีข้อจำกัดว่าทำอย่างนั้นไม่ได้ ทำอย่างนี้ไม่ได้ แต่จินตนาการไม่มีข้อจำกัด สามารถไปได้ไกลสุดสุด
เจ้าชายสิทธัตถะมีจินตนาการไกลสุดสุดว่า "มนุษย์พ้นทุกข์ได้" แต่ไม่ทรงมีความรู้ว่าทำอย่างไร แต่จินตนาการไกลสุดสุด นั้นมีพลังที่ผลักดันให้ท่านแสวงหาความรู้นั้นอย่างสุดแรงเกิดอยู่ 6 ปี จนทรงค้นพบความรู้ที่ประเสริฐสุด ที่เสมือนประทีปส่องทางให้มนุษยชาติมาเป็นพันๆ ปี ตราบเท่าทุกวันนี้ และกำลังโชติช่วงมากยิ่งขึ้นในโลก
จินตนาการไปในอนาคตให้แรง จะเกิดพลังฉุดมหาศาล ฉุดเราออกจากปลักอันหมักหมมของอดีตและปัจจุบัน
ประเทศไทยต้องการจินตนาการใหม่ มุมมองใหม่
สังคมไทยถูกสะกดหรือวางยาไว้ในจินตนาการเก่าๆ มุมมองเก่าๆ จนหมดแรงที่จะออกจากวิกฤต มุมมองเก่าๆ ก็คือประเทศไทยนั้นยากจน คนไทยเป็นคนไม่เก่ง เป็นคนไม่ดี ไม่มีทางพึ่งตนเองได้ ต้องพึ่งผู้อื่นอยู่ร่ำไป
มุมมองใหม่ในเรื่องทรัพยากร ต้องขอยกมุมมองของต่างชาติสัก 3 กรณี
คนจีน ที่อยู่ประเทศของตนต้องอดอยากขาดแคลนจนถึงตาย พอมาเห็นเมืองไทยบอกว่าไม่ตายแล้ว เพราะอุดมสมบูรณ์เหลือเกิน
นักวิชาการญี่ปุ่น เขียนบทความชื่อ "Thailand is rich, Japan is poor" เขาเปรียบเทียบให้เห็นว่าประเทศไทยร่ำรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากกว่าญี่ปุ่นเพียงใด เขาว่าญี่ปุ่นกับสิงคโปร์มีทรัพยากรธรรมชาติน้อย จึงทำอย่างที่เขาทำ ซึ่งไทยไม่ควรเอาอย่าง
มาร์ติน วีเลอร์ ชาวอังกฤษ เป็นลูกเศรษฐีเรียนจบมหาวิทยาลัย พ่ออยากให้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแต่เขาไม่เชื่อ ออกท่องเที่ยวไปแล้วมาแต่งงานกับผู้หญิงชาวบ้านไทย ทำนาอยู่ที่บ้านคำปลาหลาย อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เขาว่าพ่อเขาเป็นเศรษฐี แต่มีที่อยู่ครึ่งเอเคอร์เท่านั้น แต่เขากับภรรยามีที่นาอยู่ 6 ไร่มากกว่าพ่อ เขามีงานทำตลอดปี ที่อังกฤษมีปัญหาการว่างงาน เขามีความมั่นคงทางอาหารมากเพราะผลิตได้มาก มีกินอิ่มและยังเหลือขาย หมู่บ้านที่เขาอยู่อากาศดีมาก ไม่มีมลพิษ ที่อังกฤษอากาศมีมลพิษมาก ลูกเขาเล่นไปในหมู่บ้านปลอดภัยมากเพราะทุกคนรู้จักกันหมด ในขณะที่อังกฤษอาจไม่ปลอดภัย รวมความว่าชีวิตเขาในประเทศไทยรุ่มรวยมาก
มุมมองใหม่ ประเทศไทยร่ำรวยด้วยทรัพยากรหรือทุนต่างๆ มากมาย ทั้งทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ ทุนมนุษย์ ทุนทางสังคม ทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางศาสนธรรม และอื่นๆ เกินพอที่จะสร้างการมีอยู่มีกิน สำหรับทุกคนและบ้านเมืองมีอนาคตที่ดีได้ไม่ยาก ถ้าเรามีจินตนาการใหม่ร่วมกัน
มุมมองใหม่ในเรื่องคน มุมมองเก่าคนไทยไม่เก่ง มีการศึกษาน้อย พัฒนาได้ยาก นั่นเกิดจากเรามองความรู้ประเภทเดียว คือความรู้ในตำรา ความรู้มี 2ประเภท คือความรู้ในตำรากับความรู้ในตัวคน ความรู้ในตัวคนเช่น ความรู้ในการทำก๋วยเตี๋ยว ในการทำไร่ ทำนา ทำสวน ในการก่อสร้าง ในการทำมาค้าขาย ในการทำกับข้าว ในการเลี้ยงลูก ฯลฯ ความรู้ในตัวคนเป็นความรู้ที่ฝังแน่น เพราะได้มาจากประสบการณ์ชีวิตและการทำมากับมือ เพราะความรู้ในตัวนี่แหละ แม่จึงเป็นครูที่ดีที่สุดของลูกทุกคนโดยไม่คำนึงถึงการศึกษาของท่าน โยมแม่ของอาจารย์พุทธทาส ไม่เคยเข้าโรงเรียนเลย แม่ของอาจารย์ป๋วยไม่เคยเข้าโรงเรียนเลย แต่เป็นครูที่ยิ่งใหญ่ของลูก
ความรู้ในตัวคนกับความรู้ในตำรามีความสำคัญทั้งคู่ แต่มีที่มาและความหมายต่างกัน ความรู้ในตัวคนมีฐานในวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรม แต่ความรู้ในตำรามีฐานในวิทยาศาสตร์ ความรู้ในตำรามีคนส่วนน้อยเท่านั้นที่รู้ แต่ความรู้ในตัวคนคนทุกคนมี ถ้าเราเคารพเฉพาะความรู้ในตำรา คนส่วนน้อยเท่านั้นที่จะมีเกียรติ คนส่วนใหญ่จะไม่มีเกียรติ ไม่มีศักดิ์ศรี ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง และรวมกันเป็นความไม่มั่นใจแห่งชาติ ชาติหมดกำลังลง
แต่ถ้าเราเคารพความรู้ในตัวคน คนทุกคนจะมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีความมั่นใจในตัวเอง รวมกันเป็นความมั่นใจแห่งชาติ คนไทยทั้งหมดจะเป็นพลังในการพลิกฟื้นแผ่นดิน และจะเปลี่ยนแนวทางศึกษา และแนวทางการพัฒนาที่จะสร้างความร่วมเย็นเป็นสุขในเวลามิช้าเลย
การมีจินตนาการใหม่ มุมมองใหม่ ทำให้เรากล้าที่จะสร้างเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วมที่จะทำให้เกิดพลังมหาศาลที่จะดึงเราไปในอนาคต
การพัฒนาคือการรวมตัวกันทำสิ่งใหม่ที่ดี
ในตอนต้นได้พูดว่าการพัฒนาไม่ใช่การแก้ปัญหา
การพัฒนาคือการรวมตัวกันทำสิ่งใหม่ที่ดี
ในขณะที่การแก้ปัญหายากและทะเลาะกันมากขึ้น การรวมตัวกันทำสิ่งใหม่ที่ดีนั้นง่ายกว่าและทำให้รักกันมากขึ้น การทำสิ่งใหม่ที่ดีมีความสำเร็จง่ายกว่า เมื่อสำเร็จแล้วก็เกิดความปีติร่วมกันชื่นชมยินดีร่วมกัน ทำให้รักและเชื่อถือไว้วางใจกัน (Trust)
ความเชื่อถือไว้วางใจกันเป็นทุนสำหรับการพัฒนาอันยิ่งใหญ่ ที่ทำให้ทำอะไรๆ สำเร็จได้ง่าย รวมทั้งสิ่งยากๆ ที่แก้ไม่ได้ท่ามกลางความไม่เชื่อถือไว้วางใจกัน
ความเชื่อถือไว้วางใจกันนี้ เงินเท่าไรๆ ก็ซื้อไม่ได้ แต่เกิดจากการรวมตัวกันทำสิ่งใหม่ที่ดี การแก้ปัญหาเก่านั้นทำให้สะดุ้ง หวาดกลัว หวั่นระแวง ไม่เชื่อถือไว้วางใจกัน หรือแตกแยกกันมากขึ้น และอาจนำไปสู่ความรุนแรง
ฉะนั้น เพื่อนคนไทยควรรวมตัวกันทำสิ่งใหม่ที่ดี สิ่งใหม่ที่ดีทำไม่ยากเลยครับ เพราะเรามีทรัพยากรหรือทุนต่างๆ มากมายและถ้าเราทำโดยเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคน โลกจะเปลี่ยน เราจะเปลี่ยนจากนรกเป็นสวรรค์ค่อนข้างจะฉับพลันทันที
การสร้างเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วม คือการสร้างพลังมหาศาลในการเคลื่อนไปข้างหน้า
ถ้าเรามีความมุ่งมั่นร่วมกันจะเกิดพลังประดุจแสงเลเซอร์
แสงเลเซอร์เกิดจากการจูนคลื่นแสงที่มีพลังต่ำๆ ให้ช่วงคลื่นเข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คลื่นของแสงที่ตัดกันย่อมไม่มีพลัง แต่คลื่นแสงที่พลังต่ำๆ นั่นแหละ ถ้าจูนให้มันเข้ามาร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจะกลายเป็นแสงเลเซอร์อันมีพลังมหาศาลในการทะลุทะลวงตัดของแข็งได้
ความรู้ ทฤษฏี เหตุผล ตรรกะ ย่อมมีความหลากหลาย ไม่มีพลังที่จะฉุดสังคมออกจากปลักวิกฤต แต่เป้าหมายและวิสัยทัศน์สามารถร่วมกันได้ และเป็นพลังประดุจแสงเลเซอร์
ฉะนั้นเราควรพูดคุยสื่อสารกันทั้งแผ่นดิน เพื่อสร้างเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วมของประเทศไทย ถ้าเป้าหมายและวิสัยทัศน์ต่ำเฉพาะเรื่อง เช่น จะสร้างสะพานหรือไม่สร้าง จะสร้างเขื่อนหรือไม่สร้าง เราจะมีการค้าเสรีหรือไม่มี คนจะเห็นต่างกันและทะเลาะกัน เป้าหมายและวิสัยทัศน์จะต้องสูงพอที่ทุกคนจะเห็นร่วมกันได้หมด เช่น
"ร่วมสร้างสังคมไทยที่ลูกหลานของเราจะอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสุข"
อย่างนี้เห็นร่วมกันได้หมดไม่มีขัดแย้งกันเลย
แต่ถ้าเป็นเป้าหมาย ต้องมีปริมาณและกำหนดเวลากำกับไปด้วย เช่น "ร่มเย็นเป็นสุขทั่วทั้งแผ่นดินภายใน 5 ปี หรือ 10 ปี"
ตรงนี้จะเริ่มเห็นไม่ตรงกัน บ้างว่าเป็นไปได้ภายใน 5 ปี บ้างว่าไม่ได้ ก็สุดแต่จะตกลงให้เป็นเป้าหมายร่วมกัน
ทีนี้ก็ต้องมาดูต่อไปว่า แล้วจะต้องทำอะไรที่สำคัญๆ จึงจะเกิดความร่มเย็นเป็นสุขได้จริงๆ ตรงนี้ต้องการปัญญาอย่างรวบยอด รู้ว่าปัจจัยแห่งความร่มเย็นเป็นสุขจริงๆ อยู่ที่อะไร ขอยกตัวอย่างให้ดูสัก 3 เรื่อง คือ
(1) การมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ หากประชาชนมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ ความชั่วต่างๆ จะลดน้อยหรือหมดไป เช่น การลักขโมย การพนัน ยาเสพติด อบายมุขต่างๆ ยากที่จะขจัด เพราะติดขัดด้วยผลประโยชน์ของฝ่ายต่างๆ เช่น ห้ามบาร์ไนต์คลับ อาบอบนวด แม่ค้าส้มตำหน้าบาร์ก็เดือดร้อน สาวเชียร์เบียร์ก็เดือดร้อน หรือแม้ตำรวจก็อาจเดือดร้อน เป็นตัวอย่างว่าแก้ปัญหาทำได้ยากมาก แต่หากสร้างการมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ อบายมุขต่างๆ จะหายไปเอง ทุกตำบล ทุกอำเภอ ทุกจังหวัด ต้องมุ่งส่งเสริมสัมมาชีพให้เต็มพื้นที่ นโยบายก็ดี การจัดสรรทรัพยากรก็ดี การวิจัยก็ดี เทคโนโลยีก็ดี การศึกษาก็ดี ต้องมุ่งไปสนับสนุนให้เกิดสัมมาชีพเต็มพื้นที่ ซึ่งไม่เกิน 5 ปี ก็น่าจะทำได้หมดทั้งประเทศ การมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่คือ รากฐานของสังคมร่มเย็นเป็นสุขและคุณธรรม
(2) ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ฐานของสังคมคือชุมชนท้องถิ่น ถ้าฐานของสังคมเข้มแข็งก็จะทำให้สังคมทั้งหมดแข็งแรงและมั่นคง ชุมชนท้องถิ่นจะเป็นฐานของทุกเรื่องทั้งเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และประชาธิปไตย ปราศจากประชาธิปไตยชุมชน ประชาธิปไตยท้องถิ่น ประชาธิปไตยข้างบนก็ขาดฐาน สิ่งใดที่ขาดฐานก็จะพังลงๆ บัดนี้ชุมชนท้องถิ่นพร้อมแล้ว อยู่ที่ทางราชการจะต้องเลิกครอบงำเขา ปล่อยให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวของตัวเอง และร่วมมือกับองค์กรและกระบวนการที่ทำเรื่องดีๆ ต่างๆ ถ้าสนับสนุนกันให้ดีชุมชนท้องถิ่นน่าจะเข้มแข็งได้ภายใน 5 ปี
(3) ความเป็นประชาสังคม (Civil Society) ความเป็นประชาสังคมหมายถึงสังคมที่ประชาชนรวมตัวร่วมคิดร่วมทำด้วยความเสมอภาคและภราดรภาพเต็มพื้นที่ทางสังคม อย่างนี้เรียกว่าสังคมมีความสัมพันธ์ทางราบ ตรงข้ามคือสังคมที่สัมพันธ์กันด้วยอำนาจจากบนลงล่าง เรียกว่าสังคมที่มีความสัมพันธ์ทางดิ่ง สังคมที่มีความสัมพันธ์ทางดิ่งเศรษฐกิจจะไม่ดี การเมืองจะไม่ดี และศีลธรรมจะไม่ดี และจะไม่มีวันดี ทำอย่างไรๆ ก็ไม่ดีตราบเท่าที่สังคมยังเป็นทางดิ่ง สังคมไทยเป็นอย่างนั้น ถ้าอยากให้เศรษฐกิจดี การเมืองดี และศีลธรรมดี ต้องปรับเปลี่ยนสังคมไทยให้เป็นประชาสังคมโดยส่งเสริมให้มีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำในทุกพื้นที่ ในทุกองค์กร และในทุกเรื่อง ถ้าสังคมไทยเข้าใจ และมีความมุ่งมั่นร่วมกันน่าจะเกิดความเป็นประชาสังคมได้ภายใน 5-10 ปี
ทั้ง 3 เรื่องคือ (1) การมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ (2) ชุมชนท้องถิ่นเข็มแข็ง (3) ความเป็นประชาสังคม เป็นรากฐานของความเป็นธรรม ประชาธิปไตย สันติภาพ และความร่มเย็นเป็นสุข เราพัฒนากันมามากแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเราไม่ทำตรงรากฐานของความร่มเย็นเป็นสุข
ถ้าทำตรงรากฐาน และให้การพัฒนาต่างๆ มาเชื่อมโยงกับฐาน ความงอกงามลงตัวก็จะเกิดขึ้นโดยรวดเร็ว
นายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้นำสร้างเป้าหมาย และวิสัยทัศน์ร่วมของประเทศ
องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะเกิดพลังสร้างสรรค์มหาศาล เมื่อมีการสร้างเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วมขององค์กร ประธานบริหารขององค์กร (ซีอีโอ) ต้องเป็นผู้นำให้สมาชิกขององค์กรสร้างเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วม
เมื่อสมาชิกได้มีส่วนร่วมในการสร้างเป้าหมายและวิสัยทัศน์ พฤติกรรมในองค์กรจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ผู้คนจะรักองค์กร รักกันเองและร่วมกันทำงาน โดยหัวหน้าไม่ต้องไปจ้ำจี้จ้ำไช หัวหน้าไม่ได้มีหน้าที่จ้ำจี้จำไช แต่มีหน้าที่นำให้เกิดการสร้างเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วม
สำหรับประเทศเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีในการเป็นผู้นำคนทั้งประเทศมาร่วมสร้างเป้าหมายและวิสัยทัศน์ของประเทศ นายกรัฐมนตรีมีเครื่องมือมากมายมหาศาลที่จะทำอย่างนั้น และเมื่อคนไทยทั้งประเทศร่วมสร้างเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วมของประเทศ ประเทศไทยจะเกิดพลังมหาศาล หลุดจากวิกฤตการณ์ปัจจุบัน
ไปสู่อนาคตที่ร่มเย็นเป็นสุขโดยไม่ยากเลย
นพ. ประเวศ วะสี
ข้อมูล : หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 9 กรกฎาคม 2550