ประเทศไทยเริ่มใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 เมื่อปี 2504 จนกระทั่งเข้าสู่ฉบับที่ 10 แล้ว แผนพัฒนาประเทศทุกฉบับเขียนไว้สวยหรู แต่มักไปไม่ถึงดวงดาว เพราะคนทำไม่ได้คิด คนคิดไม่ได้ทำ คิดแบบแยกส่วน และขาดเป้าหมายร่วมกันของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย
หลังจากพบว่า แผนพัฒนาฯฉบับที่ 1-7 ทำให้เศรษฐกิจดี สังคมมีปัญหา การพัฒนาไม่ยั่งยืน ฉบับที่ 8 จึงปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนาและปฏิรูปกระบวนการจัดทำแผนครั้งใหญ่ โดยเปลี่ยนเป้าหมายของการพัฒนาจาก "เงิน" เป็น "คน" แต่ปรากฏว่า รัฐบาลที่แล้วยังคงต้องพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกร ก็แสดงว่า ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา คุณภาพชีวิตของเกษตรกรไม่ได้ดีขึ้น
เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2550 หนังสือพิมพ์มติชนรายวันได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง เปิดแผนแม่บทข้าว ฉบับรอ "สุรยุทธ์" ไฟเขียว สู่ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ข้าวที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายข้าว (กนข.) ที่มีนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2550 และจะพัฒนาต่อไปเป็นยุทธศาสตร์ข้าวไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กนช.) ที่มี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
แผนแม่บทข้าวดังกล่าวมีระยะเวลา 5 ปี (ปี 2550-2554) ประกอบด้วยกลยุทธ์การผลิต การพัฒนาชาวนา การจัดระบบตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การรักษาเสถียรภาพราคา การตลาดระหว่างประเทศ และการจัดการโลจิสติคส์และการสร้างมูลค่าตลอดห่วงโซ่อุปทาน
คำถามคือ "มุมมองที่มีต่อข้าว" ของ กนข.ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่?
กลุ่มเป้าหมายหลักคือใคร?
พื้นที่เป้าหมายหลักอยู่ที่ไหน?
ชาวนาจะได้ประโยชน์อะไร?
ถ้าคำตอบไม่ชัดเจน แผนแม่บทข้าวดังกล่าวย่อมกำหนดขึ้นมาอย่างเลื่อนลอย เมื่อครบ 5 ปี ชาวนาก็คงไม่ได้ประโยชน์อะไร
นอกจากนี้ กลยุทธ์การพัฒนาชาวนาที่กำหนดไว้จะช่วยชาวนาให้เป็นชาวนามืออาชีพ พึ่งตนเอง และพึ่งพิงกันในชุมชนได้จริงหรือ? คุ้มค่าไหม? มีกลยุทธ์ทางเลือกที่เร็วกว่า ถูกกว่า ดีกว่านี้หรือไม่?
กระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2536 มีข้อความตอนหนึ่งว่า
"ข้าวต้องปลูก เพราะอีก 20 ปี ประชากรอาจจะ 80 ล้านคน ข้าวจะไม่พอ ถ้าลดการปลูกข้าวไปเรื่อยๆ ข้าวจะไม่พอ เราจะต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ เรื่องอะไร ประชาชนคนไทยไม่ยอม คนไทยนี้ต้องมีข้าว..."
ข้าวจึงมิใช่เป็นเพียงสินค้าส่งออก หรือมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศเท่านั้น ซึ่งเป็นมุมมองที่คับแคบ แต่ข้าวยังเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมของชุมชนในชนบท ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นความมั่นคงทางอาหารและเป็นสายใยเชื่อมโยงระหว่างประชาชนคนไทยกับธรรมชาติอีกด้วย
ถ้าการเพาะปลูกข้าวประสบความสำเร็จ คุณภาพชีวิตของเกษตรกรย่อมให้ดีขึ้นและส่งผลต่อไปยังเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างแน่นอน การจัดทำแผนแม่บทข้าวจึงควรให้ความสำคัญกับ "มุมมองที่มีต่อข้าว" และ "การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน"
เริ่มต้นจากการระดมความคิด เพื่อกำหนดมุมมองที่มีต่อข้าว แล้วพัฒนากรอบแนวความคิดและกำหนดเป้าหมายของแผนแม่บทข้าว จากนั้นจึงสร้างยุทธศาสตร์เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย สำหรับกลยุทธ์ในแต่ละยุทธศาสตร์นั้น จำเป็นต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความจำเป็นในแต่ละภูมิสังคม ซึ่งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ต่อจากนี้ไปเป็นเพียงตัวอย่างของการนำมุมมองที่มีต่อข้าวดังกล่าวข้างต้นมาเป็นพื้นฐานในการกำหนดกรอบแนวความคิดและเป้าหมายของแผนแม่บทข้าว
กลุ่มเป้าหมายหลักของแผนแม่บทข้าวควรเป็นเกษตรกรที่ปลูกข้าวใน 3 ภูมิสังคมอาชีพ คือ (1) พื้นที่นาชลประทาน (2) พื้นที่นาน้ำฝนและ (3) พื้นที่ข้าวไร่
พื้นที่เป้าหมายหลักควรเป็นพื้นที่นาชลประทาน ประมาณ 9 ล้านไร่ เพราะเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ ภาวะวิฤต คือ ต้นทุนการผลิตสูง ใช้ปุ๋ยเคมีเกินความจำเป็น 2-3 เท่าตัว สูตรปุ๋ยไม่ตรงกับที่ข้าวต้องการใช้ สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมาก สร้างมูลภาวะทางน้ำ และเริ่มมีปัญหาคุณภาพผลผลิตจากข้าววัชพืช (ข้าวดีด ข้าวเด้ง ข้าวแดง) เป้าหมายที่ควรให้น้ำหนัก คือ ต้นทุนการผลิต ประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยการผลิต การระบาดของข้าววัชพืช และระบบผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวโดยเกษตรกร
พื้นที่เป้าหมายรองลงมาคือพื้นที่นาน้ำฝน ประมาณ 48 ล้านไร่ ภาวะวิกฤต คือ ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ดินเสื่อม ความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ และการว่างงานนอกฤดูทำนา เป้าหมายที่ควรให้น้ำหนัก คือ ผลผลิตต่อไร ฟื้นฟูดิน ความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ผลิตข้าวตลาดบน และรายได้เสริม
สำหรับพื้นที่ข้าวไร่ ถึงแม้มีพื้นที่ไม่มาก แต่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารและเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ ในอดีต หลังจากเก็บเกี่ยวข้าว ดินถูกปล่อยให้ฟื้นตัวโดยธรรมชาติ 7-8 ปี เมื่อป่าแก่ จึงปลูกข้าวอีกครั้งหนึ่ง แต่ปัจจุบัน ดินมีเวลาพักตัวเพียง 2-3 ปี เพราะประชากรเพิ่มขึ้น แต่พื้นที่มีอยู่จำกัด ภาวะวิกฤต คือผลผลิตต่อไร่ต่ำ ดินเสื่อม และวัชพืชรุนแรง เกษตรกรใช้ยาฆ่าวัชพืชและปุ๋ยเคมีมากขึ้น เนื่องจากพื้นที่ลาดเท น้ำฝนจะชะล้างทั้งปุ๋ยและยาลงไปปนเปื้อนในแหล่งน้ำลำธาร เป้าหมายที่ควรให้น้ำหนัก คือ ผลผลิตต่อไร่ ลดมลภาวะจากยาฆ่าหญ้าและปุ๋ยเคมี และระบบการปลูกข้าวไร่เชิงอนุรักษ์
กลุ่มเป้าหมายรองของแผนแม่บทข้าวควรเป็นประชาชนคนไทย เพราะเป็นผู้บริโภคข้าวส่วนใหญ่ที่ผลิตได้ เป้าหมายที่ควรให้น้ำหนักคือ คนไทยได้กินข้าวคุณภาพดี ครบทุกมื้อ อิ่มทุกมื้อ ราคายุติธรรม เพราะต้องยอมรับว่า ระบบตลาดอยู่ในสภาพ "ข้าวเปลือกถูก ข้าวสารแพง" และคนไทยจำนวนไม่น้อยมีข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภค
สำหรับการส่งออก คำถามคือ การส่งออกในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ชาวนาได้ประโยชน์อะไรบ้าง? ทุนทางธรรมชาติแวดล้อมของประเทศทรุดโทรมไปมากน้อยแค่ไหน? ซึ่งเป้าหมายที่ควรให้น้ำหนักคือ ระบบตลาดส่งออกที่มีสัดส่วนข้าวตลาดบนและผลิตภัณฑ์จากข้าวเพิ่มขึ้น และการลดช่องว่างระหว่างราคาข้าวส่งออกกับราคาข้าวเปลือกที่รับซื้อจากเกษตรกร
คุณค่าของข้าวย่อมเปลี่ยนไปตามมุมมองที่มีต่อข้าว และเป็นปัจจัยชี้ขาดที่กำหนดกรอบแนวความคิดและเป้าหมายของแผนแม่บทข้าว
ดังนั้น กนช.จึงควรทบทวนมุมมองที่มีต่อข้าวและกระบวนการจัดทำแผนแม่บทข้าวที่ได้ผ่านความเห็นชอบจาก กนข.ด้วยความรอบคอบเพื่อให้ "ยุทธศาสตร์ข้าวไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" สร้างประโยชน์สุขให้แก่ชาวนาและสังคมไทยใน 5 ปีข้างหน้าได้อย่างแท้จริง
ดร.ประทีป วีรพัฒนนิรันดร์
มูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน
prateep.v@hotmail.com
7 กันยายน 2550
โทร.081-3065373